City Farm Market ตลาดออร์แกนิคที่เปิดให้พรีออเดอร์วัตถุดิบดีๆ ส่งตรงถึงบ้าน จนคุณไม่ต้องไปกักตุนอาหารที่ห้างอีกต่อไป
“เราจัดตลาดในช่วงโควิดเพราะแหล่งอาหารจะถอยไม่ได้ ถ้าเมืองมันไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เราก็จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกคนวิ่งกักตุนสินค้า ทุกคนกินได้แต่มาม่า โจ๊กคัพ ปลากระป๋อง ซึ่งคุณอาจจะเป็นโรคไตตายก่อนจะได้ตายด้วยโควิดซะอีก เราก็เลยพยายามจะสื่อสารกับคนเมืองว่า คุณควรมีแหล่งอาหารสำรอง และไม่ควรฝากท้องไว้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือ Modern trade ไปซะหมด เพราะนอกจากมันจะไม่ใช่อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว อิสระทางการเข้าถึงก็ไม่ได้เป็นของทุกคนเสมอไป”
ในช่วงที่ทุกคนต่างก็เก็บตัวอยู่บ้านและพยายามรับมือการสถานการณ์ของโรคระบาดที่ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป บ้านใครมีมาม่าลังใหญ่ ปลากระป๋องเรียงราย แล้วก็โจ๊กคัพเรียงเป็นตับบ้าง?
วันนี้เราอยากชวนให้ทุกคนได้มารู้จักกับตลาดอาหารออร์แกนิคส่งตรงจากมือเพื่อนเกษตรกร ที่ยังคงยืนหยัดจัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอาหารสดที่ดีต่อสุขภาพกายและใจให้กับคนเมืองอย่าง ‘City Farm Market’ ซึ่งจัดโดยกลุ่ม สวนผักคนเมือง มาแล้วหลายครั้ง โดยในครั้งนี้กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ สวนผักคนเมือง ไทรม้า นนทบุรี
แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ เพราะมาพร้อมวิธีการซื้อขายแบบใหม่ด้วยการเปิดให้ผู้บริโภคต้อง Pre-order ผลผลิตล่วงหน้าอย่างเต็มรูปแบบภายในวันที่ 24 มีนาคมนี้เท่านั้น และถ้าหากไม่อยากออกจากบ้านมาเอา ก็สามารถส่ง Grab ไปให้ถึงที่ หรือจะสั่งให้รวมอาหารจากทุกร้านเอาไว้ในหนึ่งตะกร้า แล้วขับรถมาเปิดกระจกรับกลับบ้านไปแบบไวๆ ก็ได้เหมือนกัน!
ยิ่งเราได้คุยกับ ‘พี่ปุ้ย-วรางคนางค์ นิ้มหัตถา’ หนึ่งในทีมงานคนสำคัญของกลุ่มสวนผักคนเมือง เราก็ยิ่งพบว่าตลาดแห่งนี้เจ๋งมากๆ เพราะจริงๆ ไอเดียการเปิดให้ผู้บริโภค Pre-order นี้ มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีโรคระบาด แต่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการนำผลผลิตขึ้นมาขายในกรุงเทพแล้วขายไม่หมดจนต้องเหลือทิ้งของเกษตรกรต่างหาก
“เราเน้นใช้การ Pre-order เพราะตลาดพวกนี้จริงๆ มันเกิดขึ้นเยอะมากในเมืองนะ แต่ในหลายๆ ที่ เกษตรกรต้องเผชิญชะตากรรมกันเอาเองว่าจะขายได้ขายไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าการขึ้นมากรุงเทพหรือขนผลผลิตมาจะคุ้มไหม หรือจะขายไม่ได้แล้วเน่าเสียไป แต่เราไม่อยากให้มันเป็นภาพนั้น เราอยากให้เกษตรมั่นใจว่าเขามาแล้วเขาจะขายได้ ส่วนผู้บริโภคก็จะได้มั่นใจเหมือนกันว่าเขามาตลาดนี้แล้วเขาจะได้สินค้าที่เขาต้องการ เพราะเขาได้สั่งและเตรียมตัวมาก่อนแล้วว่าจะซื้ออะไร”
มาฟังกับแนวคิดดีๆ แบบนี้ของ City Farm Market แล้วอย่าลืมแวะไป Pre-order ผลผลิตดีๆ สดใหม่ ได้ที่ สวนผักคนเมือง : ปลูกเมือง ปลูกชีวิต Pre-order ได้ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2563 เวลา 17:00 เท่านั้น ถ้าไม่สั่งล่วงหน้าแล้วรอไปซื้อที่หน้างานระวังจะอดกินจะบอกไว้ก่อน เพราะเขาเอามาเผื่อน้อยจริงๆ!
ไม่ใช่ตลาดแต่เป็นที่นัดพบของเพื่อน
หลังจากที่ทำงานกับการทำสวนในเมืองมาสักระยะหนึ่ง และยังรู้จักกับเครือข่ายเกษตรกรดีๆ ในชนบทอีกมากมาย พี่ปุ้ยเล่าว่า เมืองยังคงมีข้อจำกัดในการผลิตอยู่เยอะ เพราะไม่สามารถผลิตผลผลิตบางอย่างได้ เช่น ข้าว ผลไม้ ผักพื้นบ้าน เนื้อสัตว์ อาหารทะเลฯ ดังนั้นถ้าเกิดเมืองมันยังไม่สามารถผลิตอาหารด้วยตัวเองได้ 100% เราก็ควรจะเชื่อมโยงเกษตรกร ทั้งในเมือง ชานเมือง และชนบท กับผู้บริโภคในเมืองเข้าด้วยกันให้มากที่สุด
“เราก็เลยทำ City Farm Market ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารยั่งยืนของเมือง โดยจะเราไม่เน้นการรับมาขายต่อ เพราะเราอยากให้เกษตรกรได้มารู้จักกับผู้บริโภคในเมือง เราเป็นแค่พื้นที่ที่เชื่อมโยงให้พวกเขาได้มาเจอกันมากกว่า
ถ้าซื้อไปวันนี้แล้วกินไม่พอ วันหลังคุณจะได้โทรไปสั่งกับเกษตรกรได้เลย เพราะเดี๋ยวนี้เกษตรกรก็พัฒนาและพร้อมที่จะส่งผลผลิตมาหาเรากันมากขึ้นเยอะแล้ว เราอยากให้คุณรู้ว่าคนนี้ปลูกข้าวอยู่ตรงนี้นะ คนนี้ปลูกผักอยู่ตรงนี้ คนนี้มีผลไม้ตรงนี้นะ คือต่อให้คุณผลิตอาหารเองไม่ได้ คุณก็ควรจะรู้ว่าจะสามารถหาแหล่งวัตถุดิบคุณภาพและจะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยได้ที่ไหน
วันนึงตลาดเราอาจจะไม่มีแล้ว แต่ถ้าผู้บริโภคกับเกษตรกรยังรู้จักกัน ยังเป็นเพื่อนกัน ยังแบ่งปันผลผลิตกันได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของเรา”
คุณได้วางแผนการกินอาหารของคุณ เราก็ได้วางแผนการผลิตของเรา
นอกจากการ Pre-order ล่วงหน้า จะช่วยให้เกษตรกรมั่นใจว่าสินค้านำมาขายจะขายได้อย่างแน่นอน และสามารถวางแผนการขนส่งสินค้ามาได้ในปริมาณที่พอดีแล้ว พี่ปุ้ยเล่าว่ายังมีอีกมิติหนึ่งที่ทีมงานได้ค้นพบ หลังจากที่เริ่มทดลองนำระบบ Pre-order เข้ามาใช้ นั่นก็คือการที่ ‘ผู้บริโภคต้องวางแผนการกินอาหารของตัวเอง’ ซึ่งหมายถึงการคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะเลือกซื้ออะไรสักอย่าง ว่าจะพอกิน ขาด และเหลืออย่างไร
“ผู้บริโภคเขาจะได้วางแผนการกินอาหารของตัวเองและของครอบครัว เช่น ในแต่ละเดือนเราจะมีตลาดแบบนี้หนึ่งครั้ง เขาก็ต้องวางแผนแล้วเราเขาควรจะซื้ออะไรมากแค่ไหนถึงจะพอกิน ไม่ขาดไม่เหลือ ต้องสั่งจองให้พอ หรือจะสั่งแค่สำหรับครึ่งเดือน แล้วอีกครึ่งนึงต้องไปซื้อจากอีกตลาดนึง”
และอีกมิติหนึ่งคือการที่เกษตรกรเองก็จะได้กลับมาทบทวนด้วยว่า สินค้าแบบไหนที่ผู้บริโภคในเมืองให้การสนใจและนำข้อมูลเหล่านี้กลับไปวางแผนการผลิตของตัวเองได้ในอนาคตอีกด้วย
“แต่เราเองก็ไม่ได้อยากจำกัดหรือตามใจแค่คนเมืองนะ ว่าถ้าอยากกินแบบไหนก็ต้องได้กินแบบนี้ตลอดไป การสั่งจองล่วงหน้าก็ส่วนหนึ่ง แต่ตลาดของเราจะเน้นไปที่การสื่อสารและให้ความรู้มากที่สุด กว่าจะขายแต่ละชิ้น เราอธิบายรสชาติ การกินให้ถูกวิธี ความหลากหลายของอาหารให้กับผู้บริโภคด้วย
พอผู้บริโภคสั่งจองล่วงหน้าเราก็ไม่ต้องเอาผลผลิตมาขายหน้าร้านมาก เช่น ถ้ารอบนี้มีคนสั่งถั่วลันเตาจากแม่ทา 10 กิโล เราก็จะอาจจะขนมา แค่ 11 กิโลเท่านั้นเอง เพราะเราต้องการจะฝึกให้คนเมืองรู้ว่า ถ้าคุณจะกินคุณต้องสั่งจองล่วงหน้า เราจะไม่เข้าข้างผู้บริโภค แต่ต้องทำงานอย่างเข้าใจกัน ทั้งผู้จัดงาน เกษตรกรและผู้บริโภครับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเราจัดตลาดแล้วใครอยากจะอยากเอาอะไรมาขายก็มา รับผิดชอบความเสี่ยงกันเอง เราอยากให้ทุกคนก้าวไปด้วยกัน”
“เราไม่ได้หวังว่าตลาดนี้จะเป็นตลาดเดียวที่ผู้บริโภคจากทุกสารทิศมาซื้อของจากเรา เราอยากให้โมเดลนี้เกิดขึ้นในทุกๆ ที่ เพราะแหล่งอาหารมันไม่ควรจะอยู่ไกลมนุษย์ เราอยากเป็นตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคกับเกษตรกรได้มารู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน” – พี่ปุ้ย วรางคนางค์ นิ้มหัตถา
ต่อไปนี้เราจะพาคุณไปชมภาพบรรยากาศของตลาดที่ผ่านมา…
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมครั้งต่อไปได้ที่ https://www.facebook.com/cityfarmthailand/
Contributors
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย