close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Community Mapping Guide ทดลองเดินเท้าเข้าป่าไปทำ ‘แผนที่ชุมชน’ กันเถอะ!

Trawell
Contact search
Go Well 5.8k

Community Mapping Guide
ทดลองเดินเท้าเข้าป่าไปทำ ‘แผนที่ชุมชน’ กันเถอะ!

23 February 2021 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง ภาพ แทนไท นามเสน

143,441 ไร่”
“9 อำเภอ”
“25 ตำบล”
“89 หมู่บ้าน”

นอกจากจำนวนเหล่านี้จะเป็นจำนวนของพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีในปี พ.ศ. 2542 แล้ว จำนวนเหล่านี้ยังเป็นจำนวนที่แสดงให้เห็น “ระยะทาง” ที่พี่ ๆ ชาวชุมชนใช้เวลากว่า 5 ปีในการ “เดินเท้า” ขึ้นเขา เพื่อไปจับพิกัด GPS มาทำฐานข้อมูลแปลงที่ดินทำกินรอบเทือกเขาบูโดอีกด้วย

การเดินเท้าขึ้นเขาในพื้นที่ 143,441 ไร่ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อ ‘บ้าน’ และ ‘สวนหลังบ้าน’ ที่อยู่อาศัยสืบต่อกันมาภายในครอบครัวกว่า 300-400 ปี ถูก ‘พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติ’ เปลี่ยนให้ ‘ผู้อยู่อาศัยมาก่อน’ กลายเป็น ‘ผู้ทำผิดกฏหมาย’ ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนที่ทำมือ, การขึ้นเขาไปจับพิกัด GPS หรือการหัดใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ศูนย์ เพื่อแปลงค่าพิกัดให้เป็นข้อมูล GIS (Geographic Information System) พวกเขาก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำ

วันนี้เราอยากชวนทุกมาล้อมวงฟังวิธีคิดและกระบวนการในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโด ว่าพวกเขาทำไปเพื่ออะไร และทำกันอย่างไร พร้อมย่อระยะทางแสนกว่าไร่ให้กลายเป็น “การทำแผนที่ชุมชนฉบับจำลอง” ชวนทุกคนออกมาเป็น ‘ทดลอง’ เป็นนักสำรวจตัวน้อย เดินจับพิกัด GPS รอบ ‘บ้านมาแฮ’ และ ‘บ้านมะยูง’ สองหมู่บ้านในตำบลปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินรอบบริเวณเทือกเขาบูโดไปด้วยกัน รับรองว่านอกจากจะได้เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว ยังจะได้รู้จักกับชุมชนแห่งนี้มากขึ้นไปพร้อมกันด้วยนะ

เข้าใจประเด็นปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโดและสิ่งที่คุณทำได้เพื่อปัญหาที่ดินที่
https://bit.ly/2Nst59I

เพราะเสียงของคนตัวเล็กคือสิ่งที่เราอยากให้คุณฟัง
ตามไป ‘ฟัง’ เรื่องราวอื่นๆ รอบเทือกบูโดในแง่มุมที่แตกต่างจากนี้ได้ที่ Attention.studio

จุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นลงมือทำ

หลังจากที่มีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดีในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่รอบบริเวณเทือกเขาบูโดไม่สามารถครอบครองที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย นำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินบูโด เคลื่อนไหวร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อแสดงขอบเขตของที่ดินทำกินที่ได้รับผลกระทบและพิสูจน์ให้ภาครัฐเห็นว่าชุมชนไม่ได้กระทำการรุกล้ำพื้นที่ป่ามากไปกว่าการทำกินและอยู่อาศัย

สิ่งที่ชาวบ้านได้ลงมือทำไปแล้วก็คือ การเดินสายสร้างความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่ดินให้กับผู้ได้รับผลกระทบ, การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อพิสูจน์ประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐาน และขั้นตอนสำคัญที่เรากำลังจะมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ ‘กระบวนการจัดทำแผนที่เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน’ นั่นเอง

ในการจัดทำแผนที่เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ พี่ๆเล่าให้เราฟังว่ามีขั้นตอนคร่าวๆทั้งหมดประมาณ 3 ขั้นตอนคือ

1.การเขียนแผนที่ทำมือ

2.การจับพิกัด GPS

3.การแปลงข้อมูลเป็นแผนที่ GIS

01 ที่ทำการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด

ที่แรกที่เราเดินทางมาจับพิกัดเพื่อสร้างแผนที่ชุมชนก็คืออาคารที่ทำการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านมาแฮ อำเภอบาเจาะ และเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ตลอด 20 ปี เพราะกว่าที่ประเด็นปัญหาที่ดินบูโดจะถูกผลักดันมาจนถึงทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรกของไอเดียตั้งต้นและการเริ่มลงมือทำแผนที่เพื่อพิสูจน์ก็ล้วนถูกผลักดันให้เริ่มต้นขึ้นที่นี่ก่อนจะนำโมเดลเดียวกันขยายออกไปใช้ในอำเภออื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ

พิกัด : (6.5880568, 101.6271948)
Location : https://goo.gl/maps/mn7MC7nCYtVLz6f88


แผนที่ทำมือ : ข้อมูลทำมือจากปลายปากกาชุมชน

พี่ๆ เล่าว่าลังจากที่พบว่ามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและได้ทราบแล้วว่าแนวเส้นเขตแดนที่ระบุว่าพื้นที่ไหนอยู่ในเขตอุทยานบ้าง สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำเลยก็คือ “การสำรวจและระบุตัวตนรวมถึงแปลงที่ดินของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดให้ได้”

สิ่งที่ “ป่อจี๊เดอราแม” ปราชญ์ชุมชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และแกนนำผู้เป็นคนเริ่มต้นผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินทำจึงเป็นทำการเรื่องเข้าไปข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อุทยานให้เปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ได้ผลกระทบ ในครั้งนั้นป่อจี๊เดอราแมได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าทางอุทยานนั้นมีเจ้าหน้าที่ไม่พียงพอที่จะสามารถช่วยดำเนินการได้ สุดท้ายชาวบ้านทุกคนจึงตัดสินใจว่า “ต้องนำผู้เดือดร้อนมาจัดทำข้อมูลเอง” โดยได้ติดต่อไปขอความช่วยเหลือจากพอช. หรือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ให้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ และเริ่มเก็บข้อมูลที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภายในอำเภอบาเจาะเป็นอำเภอต้นแบบ

ในขั้นตอนแรกของการทำแผนที่ทำมือจะมีการประกาศให้ชาวบ้านทุกคนที่มีแปลงที่ดินอยู่บนเทือกบูโด

เดินทางมายื่นเอกสารแสดงสิทธิ์ของตนเอง รวบรวมเป็นเอกสารรายชื่อของผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งอำเภอ เพื่อนัดวันมาเขียน ‘แผนที่ทำมือ’

02 ตลาดนัดหน้าหมู่บ้าน

หลังเดินทางออกจากที่ว่าการเครือข่าย เราก็แวนซ์มอไซค์ไปต่อกันที่ตลาดนัดหน้าหมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นร้านค้าเล็กๆ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนใหญ่ ที่มีทุกอย่างขายตั้งแต่อาหารสด อาหารปรุงสุก ขนม ของเล่น เสื้อผ้า และผักผลไม้ บ่ายขายราวๆบ่าย 3 ถึง6โมงเย็น โดยก๊ะๆ (พี่สาว) แบๆ (พี่สาว) ที่ตลาดเล่าให้เราฟังว่าตลาดแบบนี้มาเปิดที่ต.ปะลุกาสาเมาะแค่เฉพาะในวันพุธเท่านั้น ส่วนวันอื่นจะเวียนไปเปิดตลาดที่ตำบลอื่นๆของอำเภอบาเจาะ ดังนั้นถ้าใครจะซื้อกับข้าวเมื่อไหร่ก็ต้องวางแผนซื้อให้พอกินไปอีก 1 อาทิตย์ ไม่งั้นอาจจะต้องขับรถไปซื้อไกลบ้านแทนได้!

พิกัด : (6.5900832, 101.6351022)
Location : https://goo.gl/maps/xfXaPkDDVtzGy6VK9


แผนที่ทำมือ : หัวใจของแผนที่ทำมือคือการต่อจิ๊กซอว์

เมื่อได้รายชื่อของผู้ที่ได้รับผลกระทบออกมาทั้งหมดแล้ว พี่ๆ เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินจะเริ่มนัดคิวเพื่อชวนให้ทุกๆคนได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา “วาดแผนที่บ้านของตัวเอง” บนกระดาษใบใหญ่ โดยมีสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำแผนที่ทำมือก็คือการค่อยๆวาดไล่ลำดับไปทีละแปลง ทีละแปลง จนกว่าจะกลายเป็นแผนที่ผืนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากการลงมือแต่งเติมร่วมกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบและเจ้าของบ้านทุกครั้งจริงๆ

แต่อยู่ดีๆ ถ้าให้ทุกคนเข้ามาวาดแผนที่เลยคงไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก จึงเป็นการสร้างความเข้าใจถึงเป้าหมายของการทำแผนที่ ไปจนถึงการสอนวิธีสังเกตดูลักษณะแปลงของแต่ละคนว่ามีรูปร่างเป็นอย่างไร ตั้งอยู่ติดกับถนนหรือแม่น้ำสายไหน แปลงข้างๆเป็นบ้านของใคร เพื่อให้ง่ายต่อการทำมาขึ้นรูปต่อกันเป็นแผนที่

“เราทยอยให้ชาวบ้านมาวาดครั้งละประมาณ  5-10 คน โดยแบ่งเป็นโซนๆ ไปว่าวันนี้เราจะมาวาดโซนไหน บ้านใครอยู่ในโซนนั้นก็จะนัดวันกันมาวาด ใครมีกี่แปลงก็ต้องวาดทั้งหมดที่มี ผู้เดือดร้อนทั้งหมดต้องทำ โดยเริ่มวาดจากเส้นถนนก่อน เพื่อให้มีหมุดหมายในการระบุว่าตอนนี้ตัวเรากำลังอยู่ที่ไหน แปลงของใครติดกับต้นถนนเส้นนี้ คนนั้นก็จะเป็นคนที่เข้ามาเริ่มวาดแปลงบ้านของตัวเองลงไปบนกระดาษ พร้อมกับระบุว่าที่ของตัวเองมีกี่แปลง ตั้งอยู่ที่ไหน ปลูกอะไรบ้าง ใช้ประโยชน์อะไรในที่ดินนี้บ้าง”

เมื่อวาดเสร็จชาวบ้านก็จะเซ็นชื่อแนบไปพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และรายชื่อของคนรอบตัวที่มาช่วยเซ็นเป็นพยานว่าพูดความจริง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จการวาดแผนที่ทำมือของบ้าน 1 หลัง หลังถัดไปที่ตั้งอยู่ติดกับแปลงนี้ก็จะมาวาดต่อกันไปเรื่อยๆ จนครบทั้งอำเภอบาเจาะ เกิดเป็นฐานข้อมูลของจำนวนและพื้นที่แปลงที่ได้รับผลกระทบ พร้อมให้นำไปใช้ทำงานต่อไปนั่นเอง

03 มัสยิดประจำย่าน

เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ในจังหวัดนราธิวาสนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อมาที่นี่เราก็จึงพบกับมัสยิดน้อยใหญ่หลากหลายสีสันและสถาปัตยกรรมที่มีชื่อบ้างไม่มีชื่อบ้าง ตั้งอยู่เต็มไปหมดเพื่อรองรับการเดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของทุกคนในทุกๆวัน มัสยิดสีเขียวหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนหลังนี้ก็เหมือนกัน

พิกัด : (6.5880292, 101.6284808)
Location : https://goo.gl/maps/LxMYaB5HKda9STgY8


จับพิกัด GPS : เปลี่ยนกระดาษให้เป็นข้อมูลดิจิทัล

เมื่อได้แผนที่ทำมือออกมาแล้ว ในทีแรกชาวบ้านจะทำการรวบรวมแผนที่นี้พร้อมกับแนบรายชื่อและจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบพร้อมเอกสารยืนยันสิทธิ์ไปทำทางราชการ แต่เมื่อข้อมูลที่มีนั้นอยู่แค่บนแผ่นกระดาษ ไม่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าจริงๆ แล้วแปลงของชาวบ้านกว้างขวางเท่าไหร่และตั้งอยู่ตำแหน่งไหนบนแผนที่ เจ้าหน้าที่จากพอช.จึงตัดสินใจสอนเหล่าเจ้าบ้านให้ทดลองนำข้อมูลที่มีไปจับพิกัดด้วยระบบ GPS เพื่อเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นดิจิทัล

ในยุคนั้นการจับพิกัด GPS ไม่ได้ง่ายดายและแพร่หลายเหมือนที่พวกเราใช้ Google map ใน Smart phone แต่ใช้ “เครื่องวัด GPS” ซึ่งใช้ระบบ QGIS ในการจับพิกัด (แต่ถึงแม้ปัจจุบันจะมีโทรศัพท์ที่ใช้งานได้ง่ายแล้ว การจับพิกัดบนภูเขาสูงๆ ก็ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องวัด GPS อยู่ดี เพราะในพื้นที่ภูเขาสูงๆ สัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจะไม่สามารถใช้การได้) โดยไอ้เจ้าเครื่องวัด GPS ที่ว่านี้ก็ราคาไม่เท่าไหร่ เพียงแค่เครื่อง 25,000 บาท เท่านั้นเอง! โดยพี่ๆ ชาวชุมชนร่วมกับการสนับสนุนของพอช. ก็ช่วยกันหามาใช้ได้ทั้งหมด 10 เครื่องด้วยกัน

แต่มีเครื่องแล้วก็ใช่ว่าจะเดินดุ่มๆ ขึ้นไปจับพิกัดกันได้ง่ายๆ เพราะทุกคนต้องผ่านการอบรมซะก่อน แถมการอบรมก็โหดหินไม่ใช่เล่นเพราะใช้เวลากว่า 1 เดือนเลยทีเดียวกว่าที่พี่ๆ ทุกคนจะสามารถใช้เครื่องวัด GPS กันได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนทุกวันนี้

“ยากมากเลย GQIS มันเป็นภาษาอังกฤษ เราส่งทีมไปอบรมที่กรุงเทพ ที่ราชภัฏสงขลา อบรมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตปัตตานี จนกลับมาแล้วก็ยังทำไม่ได้ สุดท้ายต้องจับขังคนละห้อง สอนกันตัวต่อตัว ถึงจะทำเป็น จากทั้งหมดที่ส่งไปอบรม 40 คน เหลือคนที่ทำงานได้จริงๆ ไม่ถึง 10 คน”

04 ป่ายางของแบมะ

บอกแล้วว่ายาก! เพราะกว่าเราจะได้คว้าเครื่องจับพิกัด GPS ออกมาลองเดินสำรวจหมู่บ้านแบบนี้ ‘แบมะ’ หรือ ‘อาหามะ ลีเฮ็ง’ หนึ่งในแกนนำการแก้ไขปัญหาที่ดิน ต้องอธิบายวิธีการใช้งานให้กับเราซ้ำแล้วซ้ำอีก และพื้นที่ซักซ้อมในจับพิกัด GPS สนามแรกของเราก็คือ ‘แปลงป่ายางของแบมะ’ หรือหมุดหมายที่ 4 ของเรานั่นเอง

พิกัด : (6.5887132, 101.6260826)
Location : https://goo.gl/maps/i7YyFKHjDh6h7Ff98


จับพิกัด GPS : เดินเท้าเข้าป่า

เมื่อมีแผนที่ทำมือแล้ว มีเครื่องจับพิกัดแล้ว วิธีการใช้งานก็เรียนรู้มาเป็นที่เรียบร้อย พี่ๆ ก็จะเริ่มจัดทีมเพื่อลงไปจับพิกัดแปลงต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบกัน โดยเวลาจะลงไปจับพิกัด 1 ครั้งนั้น ภายในทีมจะต้องประกอบไปด้วย 3 คนคือ
1.ชาวบ้านเจ้าของสวนที่รู้จักพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี
2.ทีมแกนนำที่รู้วิธีการใช้เครื่องจับพิกัด GPS
และสุดท้ายก็คือ
3.นายพรานที่รู้จักเส้นทางบนเขาดีที่สุด มาคอยเป็นคนนำทาง

เมื่อทั้งทีมขึ้นไปยังแปลงที่ต้องการจับพิกัดแล้ว ก็จะเริ่มใช้เครื่องจับพิกัด GPS ในแต่ละมุมของแปลงนั้นๆ แล้วนำตัวเลขพิกัดที่ได้จดใส่ตาราง พร้อมถ่ายรูปหลักฐานการใช้งานพื้นที่สวน เพื่อนำไปยืนยันว่าไม่ได้มีการรุกล้ำหรือทำลายป่าจริงๆ เมื่อจับเสร็จ 1 แปลง ก็จะย้ายไปจับในแปลงถัดไป โดยทั้ง 143,441 ไร่ ที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับการจับพิกัดผ่านการเดินเท้าแบบนี้นั่นเอง

“เวลาจะจดพิกัด เราต้องดูก่อนว่าแปลงที่เราจะเก็บมีกี่มุม กี่เหลี่ยม เพื่อที่จะเดินไปเก็บพิกัดให้ครบทุกมุม พอเดินขึ้นไปเจอหมุดแรก เราก็กดดูพิกัดแล้วจนค่า XY ใส่สมุดไว้ แล้วก็เดินรอบแปลงไปเก็บพิกัดทุกมุมให้ครบ วันแรกๆอาจจะได้มากสุดทีมละ 20 แปลง เพราะพื้นที่ยังเป็นที่ราบ ยังอยู่ในหมู่บ้านหรือเป็นตีนเขาอยู่ แต่หลังๆ จะเก็บได้ไม่เกิน 10-15 แปลง เพราะพื้นที่ในป่าจะชันและเดินยากกว่า และยังต้องเผื่อเวลาสำหรับเดินกลับด้วย”

05 ร้านน้ำชาอาแบมืรัน

ถ้าคณะราษฎรมีคาเฟ่ Le Select และ The Friends of the ABC มี Cafe ABC เอาไว้พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เหล่าแกนนำผู้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแห่งตำบลปะลุกาสาเมาะก็มีร้านน้ำชาอาแบมืรันของพี่สาวแบมะ นี่แหละเป็นเหมือนฐานทัพ(ไม่)ลับอีกแห่งหนึ่ง ที่ทุกคนมักจะมานั่งโยนไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาคละเคล้าไปกับการจิบชาร้อนๆ ในทุกวัน (ร้านจะเปิดเป็นเวลาคือ 6:00-12:00, 14:00-18:00 และ 20:00-22:00  เพื่อเหลือเวลาให้เจ้าของร้านพาลูกไปส่งโรงเรียนและไปละหมาด ใครจะไปอย่าดูลืมเวลาดีๆนะ)

พิกัด : (6.5881281, 101.6263578)
Location : https://goo.gl/maps/xAqiud33b7rJdkLCA


แปลงข้อมูลสู่ GIS

หลังเดินเท้าขึ้นเขาจับพิกัด GPS จนได้ออกมาเป็นชุดข้อมูลแปลงที่ดินอยู่ในตารางที่จัดเตรียมไว้ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการนำข้อมูลไปแปลงเพื่อใช้งานรอบสุดท้าย นั่นคือนำค่าพิกัด GPS ได้มาป้อนเข้าไปในระบบ GIS (geographic information system) หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างเป็นชุดข้อมูลแปลงพร้อมแผนที่ทางอากาศที่พร้อมให้นำไปใช้งานจริง
โดยเมื่อพอข้อมูลเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมดแล้ว พี่ๆ จะสามารถเลือกดูรายละเอียดการใช้งานแปลงที่ดินของใครก็ได้ในรูปแบบของภาพถ่ายทางอากาศได้ทันที ผ่านระบบค้นหาที่จำแนกตามรูปแบบต่างๆ อย่างชื่อเจ้าของสวนและประเภทของสวน เช่น สวนยาง หรือ สวนผลไม้ เป็นต้น

“ภาพถ่ายทางอากาศที่เอามาใช้ประกอบ ในช่วงแรกที่เราเริ่มทำแค่เฉพาะของอำเภอบาเจาะ ตอนนั้นเรายังไม่มีทั้งหนังสือมติครมและภาคีที่จะมาสนับสนุนการทำงานร่วมกัน เราเลยต้องซื้อภาพถ่ายจาก GISDA มาใช้ ตอนนั้นราคาประมาณแสนกว่าบาท”

06 โรงเรียนบ้านมะยูง

โรงเรียนในระดับชั้นอนุบาลและประถมเล็กๆ สีสันสดใสที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านมะยูงและบ้านมาแฮ พื้นที่ที่เราออกมาทดลองจับพิกัดกันในครั้งนี้ ถ้าผ่านมาที่นี่ช่วงเย็นๆ ก็จะได้เห็นบรรยากาศของเด็กน้อยที่เพิ่งเลิกเรียนรวมตัวกันทำกิจกรรมสนุกๆ และเดินจูงมือกันกลับบ้านแบบน่ารักสุดๆด้วยนะ

พิกัด : (6.5885947, 101.6234845)
Location : https://goo.gl/maps/g4ta4fJz1C23uMnZ6


จากโมเดลอำเภอสู่โมเดลสาธารณะ

ด้วยกระบวนการทั้งหมดที่เล่ามา กว่าพวกพี่ๆ จะทำออกมาได้ครบทั้ง 15 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่อำเภอบาเจาะ ก็ใช้เวลาไปมากกว่า 1 ปีครึ่งเลยทีเดียว จึงได้ออกมาเป็นชุดข้อมูลที่ประกอบไปด้วย แผนที่ทำมือที่ระบุเขต รายชื่อและข้อมูลของผู้เดือดร้อน, พิกัด GPS และข้อมูลในระบบ GIS

พี่ๆ เล่าว่า เมื่อได้ข้อมูลชุดแรกนี้มาแล้ว ทุกคนก็ช่วยกันถูกผลักดันข้อมูลเข้าสู่การประชุมครม. ในปีพ.ศ. 2551  โดยมีนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม และพี่ๆ แกนนำชาวบ้านที่ทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินบูโดเดินทางเข้าไปเสนอปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล จนเกิดเป็นมติ ครม. 14 ตุลา 51 ที่สั่ง ให้อีก 8 อำเภอที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทำตามรูปแบบอำเภอบาเจาะ พร้อมทั้งแต่งตั้งนายอำเภอของแต่ละจังหวัดเป็นประธานในการดำเนินงานร่วมกับอุทยานและชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน

“หลังกลับจากครม. เราก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนสอนอำเภออื่นๆ ให้เข้าใจวิธีคิดและวิธีการเก็บข้อมูลทั้งหมด เปิดเวทีทำความเข้าใจ อธิบายจุดมุ่งหมายว่าทำไปเพื่ออะไร แล้วเริ่มสอนการใช้เครื่องจับ GPS ให้กับชาวบ้าน ใช้เวลารวมประมาณ 5 ปี อำเภออื่นถึงค่อยๆเก็บข้อมูลจนทำสำเร็จ”

07 ร้านสีเขียว

ร้านอาหารตามสั่งไร้ชื่อที่คนในหมู่บ้านเรียกกันติดปากว่า ‘ร้านสีเขียว’ เพราะทั้งสีโต๊ะ เก้าอี้ ผนัง และแสงไฟนีออนที่ใช้ประดับตกแต่งรวมถึงวิวทุ่งนาหลังร้านก็ล้วนแต่เป็นสีเขียวสดทั้งนั้น แต่ถึงจะคาแรคเตอร์จัดขนาดนี้ก็เป็นร้านอาหารที่คนในหมู่บ้านวางใจ ไม่ว่าจะเป็นงานโรงเรียน งานประชุม หรืองานที่มัสยิดที่ไหน ใครๆ ก็ไว้ใจสั่งอาหารจากพี่สันติกันทั้งนั้น

พิกัด : (6.5912825, 101.6167991)
Location : https://goo.gl/maps/K8Kupht6i8o4xLY9A


การเริ่มต้นใหม่ (ครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้)

จากการทำงานหนักร่วมกับทั้งภาครัฐและภาคท้องถิ่นตลอด 20 ปี จนได้ออกมาเป็นฐานข้อมูลแปลงที่ดินของทั้ง 143,441 ไร่ จากทั้ง 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยาน ที่ทำให้การต่อสู้ครั้งนี้เข้าใกล้กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเกือบจะกลายมาเป็นต้นแบบของแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินของพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศมากเต็มที

สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ “พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562”

ประกาศฉบับนี้ ส่งผลให้ชุดข้อมูลการรังวัดพื้นที่และการพิสูจน์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใช้เวลาตลอด 20 ปีจัดทำขึ้น ถูกบังคับให้ต้องจัดทำขึ้นใหม่ภายในเวลาสองร้อยสี่สิบวัน และอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถมาลงทะเบียนรับสิทธิ์การใช้งานพื้นที่ทำกินในระยะสั้นได้ทุก 20 ปี ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงให้ภาครัฐมองเห็นการมีอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่เดิม จนเกิดการกำหนดเขตพื้นที่อุทยานและข้อตกลงการใช้พื้นที่ร่วมกัน จึงต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้

ถึงแม้ว่าวันนี้การต่อสู้จะยังไม่จบลงอย่างสวยงามตามที่คาดหวัง แต่สิ่งที่พี่ๆ ชาวบ้านสร้างขึ้นมาร่วมกันย่อมไม่สูญเปล่า แต่เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นความพยายามของภาคประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมและการรับฟังจากภาครัฐ ผ่านกลไกการ ‘ลงมือทำ’ ที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่น้อย ดังนั้นไม่ว่าจะต้องเริ่มต้นใหม่อีกกี่ครั้ง เราก็เชื่อว่าพี่ๆ จะสามารถจับมือกันและมุ่งหน้าไปสู่ทิวทัศน์ที่ภาครัฐหันมารับฟังและร่วมสร้างกฏหมายที่เข้าถึงและเข้าใจประชาชนจริงๆได้อย่างแน่นอน

08 ทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน

ทุ่งนาสีเขียวชะอุ่มหลังร้านสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ที่ทุกคนสามารถลงไปมองวิวทิวทัศน์และรับพลังจากเทือกเขาบูโดทั้งลูกได้อย่างเต็มตาที่สุดโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น

พิกัด : (6.5914390, 101.6163995)
Location : https://goo.gl/maps/ePJa6LaUK1HUPMJQA

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read