close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ‘Poomjai Garden’ สวนโบราณที่อยากเชื่อมผู้คนกับคลองบางขุนเทียนเข้าด้วยกันอีกครั้ง

Trawell
Contact search
Live Well 5.7k

‘Poomjai Garden’
สวนโบราณที่อยากเชื่อม
ผู้คนกับคลองบางขุน เทียน
เข้าด้วยกันอีกครั้ง

24 July 2020 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง ภาพ ชนิภา เต็มพร้อม

“พี่อยากทำให้แม่พี่มีความสุข และสิ่งที่จะทำให้แม่พี่มีความสุขได้ ก็คือการที่สวนนี้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองและเราสามารถอนุรักษ์สวนโบราณของบรรพบุรุษเอาไว้ได้ พอสวนอยู่ได้ คนอื่นๆ ที่เข้ามาเขาก็ได้มาแชร์ความสุขไปกับเรา จนสวนนี้กลายเป็นความภาคภูมิใจของบ้านเราเหมือนชื่อภูมิใจการ์เด้นที่แม่ตั้งขึ้นมา”

ถ้าพูดถึง ‘บางขุนเทียน’ จะมีสักกี่คนที่นึกถึง ‘คลองบางขุนเทียน’ ก่อน ‘บางขุนเทียนชายทะเล’ และจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าทั้งสองฝั่งของคลองบางขุนเทียน เคยเป็นอาณาจักรสวนลิ้นจี่และตลาดน้ำที่สำคัญของกรุงเทพซึ่งตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางกรุงอย่างสาธรด้วยการขับรถเพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น

เมื่อความสำคัญของสวนและลำคลองลดลงไปตามกาลเวลา เรื่องราวท้องถิ่นที่หลายคนไม่เคยรู้เหล่านี้เองที่ทำให้ ‘พี่ป๋อ-อันดามัน โชติศรีลือชา’ ชายหนุ่มที่เติบโตมาในบ้านกลางสวนลิ้นจี่โบราณอายุ 100 ปี ตัดสินใจลาออกจากงานด้านการเงิน มาประจำอยู่ที่ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ ด้วยความตั้งใจอยากสร้างสวนแห่งนี้ให้กลายเป็น Hub ที่ทำให้ทุกคนได้กลับมาเชื่อมต่อกับคลองอีกครั้ง พร้อมคอนเนคโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเข้ากับเรื่องราวภายในชุมชน

ก้าวอย่างระมัดระวังแล้วขึ้นเรือมาพร้อมกับเราได้เลย

เมื่ออาณาจักรสวนล่มสลาย

นับตั้งแต่ก้าวแรกในอาณาเขตร่มรื่นเขียวชอุ่มของภูมิใจการ์เด้น เราไม่เคยรู้เลยว่าสวนแห่งนี้ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินผ่านการเก็บผลผลิตออกขายได้อีกต่อไปแล้ว จนกระทั่งพี่ป๋อเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรสวนริมคลองบางขุนเทียน ที่เปลี่ยนพื้นที่ริมคลองซึ่งเคยเป็นเสมือนทองคำให้กลายมาเป็นที่ดินตาบอดที่ถูกลืมเลือน

“ตั้งแต่ร้อยสองร้อยปีก่อน คนเรามีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสวนและคลองมาตลอด แต่พอสังคมเปลี่ยนไป เมืองก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่คลองเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของชีวิต เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของผู้คน เป็นถนนใหญ่ที่ใช้ในการสัญจรและทำมาหากินของชาวสวน วันหนึ่งเมื่อถนนเข้ามามีบทบาทแทน คลองมันถูกลดความสำคัญลง

พอคลองถูกลืม พื้นที่ที่อยู่ริมคลองก็กลายเป็นพื้นที่ตาบอดที่เดินทางเข้าออกยากลำบาก จากเดิมที่ชาวสวนเคยเอาสินค้าของตัวเองล่องเรือออกไปขายตามตลาดน้ำ ช่องทางการหารายได้ของชาวบ้านที่มีสวนอยู่ริมคลองก็หายไป พอรายได้ไม่มี เขาก็ไม่สามารถรักษาสวนเอาไว้ได้ ถ้าเป็นคนที่พอมีฐานะก็อาจจะเก็บเอาไว้เฉยๆ ถ้าค่อนข้างลำบาก สภาพสังคมก็จะบีบให้ต้องขายสวนทิ้งไป พื้นที่ที่เคยเป็นสวนก็กลายมาเป็นหมู่บ้านจัดสรรบ้าง สลัมบ้าง กองขยะบ้าง”

โดยพี่ป๋อเล่าต่อว่า นอกจากการเปลี่ยนศูนย์กลางจากคลองไปสู่ถนนแล้ว การที่เมืองขยายตัวยังส่งผลไปถึงปัจจัยทางธรรมชาติอย่างขยะและการปล่อยน้ำเสียที่ทำให้น้ำในคลองซึ่งเคยดีต่อต้นไม้มีสภาพเปลี่ยนแปลงไป, สภาพอากาศที่เคยเหมาะกับการปลูกต้นไม้บางชนิดก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

“ทุกวันนี้ถึงจะดูแลเป็นอย่างดี แต่ลิ้นจี่ในสวนนี้ก็ออกลูกแค่ 4 ปี 1 ครั้ง เพราะมันต้องอาศัยสภาพอากาศที่หนาวมาก ลิ้นจี่ถึงจะออกลูก ดังนั้นครอบครัวพี่และชาวสวนคนอื่นๆ ไม่มีทางเลี้ยงตัวเองด้วยการทำสวนได้แน่นอน”

เริ่มต้นจากสิ่งที่ถูกมองข้าม

เมื่อสวนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้จนหลายคนมองว่ากลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า พี่ป๋อและคุณแม่จึงย้อนกลับไปเริ่มต้นที่การพลิกฟื้นคุณค่าจากสิ่งใกล้ตัว เพื่อทำให้ทั้งคนในชุมชน และคนนอกมองเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สวนโบราณและพื้นที่สีเขียวกลางกรุงแห่งนี้เอาไว้ โดยนอกจากพี่ป๋อและคุณแม่จะตั้งใจดูแลสวนและเหล่าต้นลิ้นจี่ของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยการจ้างรุกขกรจากกรมป่าไม้มาดูแลแล้ว พี่ป๋อยังเริ่มรวบรวมพื้นที่สวนของญาติที่อยู่ติดกันซึ่งถูกทิ้งให้กลายเป็นพื้นที่รกร้างเสื่อมโทรมกลับมาบำรุงรักษาให้ดี พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการ์เด้นทัวร์และเวิร์คช็อปทำอาหารโบราณร่วมกับชาวบ้านในชุมชน

“ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากแนวคิดที่อยากนำสิ่งที่หลายคนมองข้ามและไม่รู้ว่าจะเอาไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ยังไงอย่างพื้นที่สวน กลับมาสร้างมูลค่าให้มันกลับมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอีกครั้ง ทุกอย่างในภูมิใจการ์เด้นไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารเครื่องดื่ม สิ่งปลูกสร้าง หรือกิจกรรมต่างๆ จึงเริ่มต้นจากความตั้งใจนั้น”

จากที่ดินตาบอด สู่พื้นที่สาธารณะ

‘การเปลี่ยนจากสวนปิดให้เป็นที่เปิด’ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามามีความสุขกับพื้นที่สีเขียวที่ยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ คือแนวทางในการรักษาสวนที่พี่ป๋อค้นพบด้วยความบังเอิญจากการดูแลสวนซึ่งเป็นงานอดิเรกของคุณแม่ เพราะเมื่อสวนถูกดูแลรักษาเป็นอย่างดี คนนอกก็เริ่มมองเห็นความสำคัญและให้ความสนใจ เกิดเป็นโอกาสใหม่ในการทำให้สวนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในฐานะพื้นที่สีเขียวแห่งการเรียนรู้

“การที่ภูมิใจการ์เด้นท์ยังอยู่ได้ตอนนี้ เราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเป็นธุรกิจแล้ว แต่เราอยากเก็บสวนไว้เพื่ออนุรักษ์ พอเราดูแลสวนและเริ่มชวนเพื่อนเข้ามาเที่ยว มันก็เริ่มปากต่อปาก เพื่อนมาเที่ยวที่บ้าน ขยายออกไปเป็นเพื่อนของเพื่อน แล้วองค์กร เขต กระทรวง หรือสื่อต่างๆ ก็เริ่มตามมา เราก็เลยมองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างตรงนี้ให้เป็น Hub ที่อยากชวนให้ทุกคนกลับมาเชื่อมต่อกับคลองและสวนอีกครั้ง พร้อมกับนำเสนอเรื่องราวชุมชนที่ซ่อนอยู่ที่นี่ เราอยากให้สวนนี้เป็นเหมือน Gateway ที่เป็นตัวคอนเนคโลกภายนอกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วเข้ากับ Community นี้”

เมื่อมองเห็นลู่ทางพี่ป๋อก็ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวแบบ Garden Tour ในคลองบางขุนเทียน โดยทำงานร่วมกับพี่ๆ คนขับเรือและพี่ๆ ชาวบ้าน ด้วยการรวบรวมข้อมูล พูดคุยกับคนพื้นที่ สืบค้นจากกรมที่ดิน สืบค้นจากเอกสารต่างๆ รวบรวมองค์ความรู้ที่ส่งต่อผ่านปู่ย่าตายาย ตามหาจนได้ที่มาที่ไปของย่าน ความสำคัญของต้นไม้แต่ละต้น ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในย่านและวัดต่างๆ ทั้งสองฝั่งคลอง จากการขับเรือโดยสารธรรมดาๆ เมื่อเติมเรื่องราวและคุณค่าให้กับมัน นอกจากคนนอกจะได้เรียนรู้ พี่ๆ ชาวชุมชนเองก็ได้คุณค่าของตัวเองและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปในเวลาเดียวกัน

“ต้นจาก ต้นลำพู ต้นลิ้นจี่ ต้นไผ่ มีความสำคัญยังไง สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง ทำไมสวนทั้งสองสวนนี้ถึงเป็นสองสวนที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เพราะมันเป็นสองสวนที่อยู่จากแม่น้ำเจ้าพระยา 20 กิโลเมตร ทำให้บางฤดูมีน้ำกร่อยเข้ามา ทำให้สามารถปลูกพืชได้หลากหลายและมีรสชาติหวานกว่าที่อื่น เมื่อก่อนแถวนี้เคยปลูกอะไร ทำไมพื้นที่ตรงนี้ถึงเปลี่ยนแปลงไป เราสามารถปลูกเกร็ดความรู้ตรงนี้ให้พี่ๆ คนขับเรือและพี่ๆ ชาวบ้านที่มาทำงานร่วมกับเรา และทำให้เขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ที่เขาเคยชิน มันน่าสนใจและยังมีคนอยากฟัง”

คาเฟ่ไม้ไผ่ในสวนโบราณ

นอกจากกิจกรรม Garden Tour แล้ว พี่ป๋อยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนมาแปรสภาพให้เป็นคาเฟ่ในบ้านไม้ไผ่สุดน่ารักอย่าง ‘Natura Garden Cafe’ เพื่อขยายไอเดียความเป็นพื้นที่เรียนรู้สาธารณะที่ทุกคนสามารถมาได้ทุกวัน ตัวอาคารไม้ไผ่แสนสวยได้รับการออกแบบโดย ธ.ไก่ชน สถาปนิกที่เชี่ยวชาญงานไม้ไผ่โดยเฉพาะ

“ก่อนจะมาเป็นร้านนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นสวนส่วนที่เคยถูกขายให้คนอื่นไปทำโรงงาน ตอนที่เป็นโรงงานตรงนี้ก็ถูกสร้างเป็นเพิงไม้อัดเพื่อใช้เป็นที่พักคนงาน เราก็เอาโครงสร้างเดิมของเพิงมาพัฒนาต่อเพื่อให้สิ่งที่เคยสร้างไว้มันไม่สูญเปล่า

ไม้ไผ่มันเป็นวัสดุที่สื่อถึงภูมิปัญญาของคน เพราะมันเป็นของที่อยู่คู่กับสวนมาตลอด สวนทุกสวนจะแบ่งที่เอาไว้ปลูกไม้ไผ่เพราะมันสามารถดัดแปลงไปทำเป็นเครื่องมือได้สารพัดประโยชน์ ตั้งแต่เครื่องวิดน้ำ ตะขาบ ที่มีไว้ไล่นก ไล่กระรอก ที่จะมาแอบกินผลไม้ หรือใช้ทำ พะอง ที่เป็นบันไดเอาไว้ใช้ปืนขึ้นไปเก็บผลไม้ก็ได้”

พี่ป๋อพาเราเดินชมรอบคาเฟ่ไม้ไผ่หลังสวย เลยเข้าไปถึงในสวน พร้อมชี้ให้เราดูอุปกรณ์สวนที่ทำจากไม้ไผ่ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ให้ผู้มาเยือนได้ชมอย่าง ‘ตะขาบ’ อุปกรณ์ไล่นกหรือสัตว์เล็กที่มาแอบกินผลไม้ ด้วยการดึงไม้ไผ่สองชิ้นให้กระทบกัน และ ‘พะอง’ บันไดลิงโบราณสำหรับปืนขึ้นไปเก็บลิ้นจี่บนต้นสูงใหญ่ ซึ่งพี่ป๋อเล่าว่าไม่สามารถวางพาดไปบนกิ่งของลิ้นจี่ได้เลยเพราะลิ้นจี่เป็นผลไม้กิ่งเล็ก เปราะบาง จึงต้องใช้วิธีการผูกเชือกสองข้างเพื่อยึดโยงเอาไว้แทน

Info

Poomjai Garden

ตั้งอยู่ริมถนนเจริญถนนเจริญกรุง ย่านตลาดน้อย

open time icon
เปิดทุกวันอังคาร-ศุกร์ 12.00-20.00 เสาร์-อาทิตย์ 11.00-20.00 ปิดวันจันทร์

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read