“เชื่อไหมว่าในประเทศไทยยังมีดินแดนที่อนุญาตให้คุณชมทะเลหมอกบนภูเขาได้ในตอนเช้าและชมพระอาทิตย์ตกดินริมทะเลได้ในเย็นวันเดียวกัน?”
ดินแดนที่ว่า คือดินแดนสุดขอบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่รอบ “เทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี” จังหวัดนราธิวาส ที่พวกเรามาอยู่กันในวันนี้
“เทือกเขาบูโด” และ “เทือกเขาสุไหงปาดี” เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กินพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 9 อำเภอ 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ตั้งแต่ไม้หายากใกล้สูญพันธ์ไปจนถึงพืชสวนนานาพันธุ์ที่เป็นเสมือนปากท้องของคนท้องถิ่น ที่ถูกปลูกแซมเอาไว้บนภูเขาในรูปแบบของสวนป่าผสมผสานอย่าง “สวนดูซง” นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมนกเงือกหลายสายพันธุ์และเป็นต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนชายแดนใต้มากอย่างยาวนาน เพราะเป็นต้นกำเนิดของ “แม่น้ำสายบุรี’” แม่น้ำสำคัญสำคัญของภาคใต้
รอบพื้นที่สุดอุดมสมบูรณ์นี้เอง ที่ Trawell จะมาชวนทุกคนจัด Road Trip สุด ไปตะลุยรู้จักกับความสวยงามของริมเส้นขอบชายแดน ที่บอกเลยว่ามีอะไรให้ชมมากกว่าที่คิด เพราะที่นี่มีตั้งแต่ มัสยิดไม้เก่าแก่อายุ 390 ปี, หมู่บ้านคอมมิวนิสต์มาลายากลางหุบเขา, เส้นทางพายเรือคายัคล่องแก่งลงเขาที่ยาวถึง 7 กิโลฯ, ทะเลหมอกบนยอดเขา, ต้นไม้ยักษ์ขนาด 32 คนโอบ, หมู่บ้านชาวประมงริมทะเล ไปจนถึงเมืองเหมืองทอง ที่ลำธาร(เกือบ)ทุกสาย พร้อมให้คุณปลอมตัวเป็นนักเสี่ยงโชคลงไปร่อนตามหาทองด้วยตัวเอง!
ถ้าใครเที่ยวเสร็จแล้วยังมีแรงเหลือ เราอยากชวนทุกคนมาเข้าใจประเด็นปัญหาที่ดินอุทยานฯ รอบเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี และการต่อสู้ของเหล่าคนท้องถิ่นที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ให้มากขึ้นไปด้วยกันต่อได้ที่
https://bit.ly/2Nst59I
เพราะเสียงของคนตัวเล็กคือสิ่งที่เราอยากให้คุณฟัง
ตามไป “ฟัง” เรื่องราวอื่นๆ รอบเทือกบูโดในแง่มุมที่แตกต่างจากนี้ได้ที่
Attention.studio ฟังบูโดกัน Online Sound Exhibition
From Brotherhood To Borderhood
ทริปของเราในครั้งนี้เป็นการขอติดรถแบๆ (พี่ชาย) ก๊ะๆ (พี่สาว) ที่น่ารัก นั่งวนเป็นวงกลมรอบจังหวัดนราธิวาส โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่อ.บาเจาะ ที่ตั้งของที่ทำการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นเสมือนอำเภอที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินทำกินทั้งหมดที่พี่ๆ ทำมาตลอดหลายปี แล้วขับต่อไปที่ อ.สุไหงปาดี, อ.สุคิริน และวนกลับมาปิดท้ายกันที่ อ.เมืองนราธิวาส เก็บครบจบเป็นวงกลมพอดิบพอดี
โดยที่แรกเราจะไปเริ่มกันที่ ‘มัสยิดตะโละมาเนาะ’ มัสยิดไม้เก่าแก่อายุ 390 ปี
มัสยิดตะโละมาเนาะ : มัสยิดไม้ทั้งหลังสไตล์ไทย จีน มลายู
“มัสยิดตะโละมาเนาะ” หรือ “มัสยิดวาดีลฮูเซ็น” เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2167 หรือกว่า 397 ปีมาแล้ว โดย “วันฮูเซ็น อัสซานาวี” อาจารย์สอนศาสนาจากเมืองปาตานีที่พาชาวบ้านและลูกศิษย์จากบ้านสะนอยานยา อพยพหนีสงครามระหว่างเมืองปาตานีกับกรุงศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ และได้สร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยในยุคแรกถูกสร้างแบบง่ายๆ โดยนำใบลานมามุงหลังคา ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องดินเผามุงแทนเพื่อให้คงทนแข็งแรงมากขึ้น มัสยิดตะโละมาเนาะแห่งนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในแถบบริเวณรอบเทือกเขาบูโดแห่งนี้ มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาแล้วถึงเกือบ 400 ปี
โดยความพิเศษมัสยิดตะโละมาเนาะที่ทำให้ไม่ว่าใครก็อยากเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง (รวมทั้งเราด้วย!) ก็คือตัวอาคารที่ถูกสร้างขึ้นด้วย ‘ไม้ตะเคียนทั้งหลัง’ และยังใช้การแกะสลักไม้เพื่อเข้าลิ่มแบบโบราณแทนการตอกตะปู โดยงานสถาปัตยกรรมยังได้ประยุกต์เอาศิลปะแบบมลายู ไทยพื้นเมือง และจีนเข้าด้วยกัน คือมีการแกะสลักช่องลมและเป็นรูปดอกไม้ใบไม้ และมีหออาซานทรงสูงเหมือนเก๋งจีน
Tips : วันนี้เรามาถึงมัสยิดกันในช่วงเย็นๆ ราว 17:00 ก่อนที่แสงอาทิตย์จะลับจากฟ้า ทันเวลาให้แสงสุดท้ายอวดความสวยงามของอาคารไม้ทั้งหลัง และยังเป็นเวลาที่พอเหมาะสำหรับการรอให้แบๆ ก๊ะๆ ชาวบาเจาะ เดินทางมาละหมาดในช่วงเย็นของวัน มัสยิดที่เคยเงียบสงบในเวลากลางวัน ช่วงหัวค่ำจึงมีสีสันและมีพลังมากจนอยากชวนให้ทุกคนรอชม 🙂
น้ำตกฉัตรวาริน : แหล่งชมนกเงือกที่เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า
หลังจากนอนจนเต็มอิ่ม เช้านี้เราจะมาเริ่มออกเดินทางจากอำเภอบาเจาะไปยังจุดมุ่งหมายต่อไปของเราอย่าง “น้ำตกฉัตรวาริน” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี หนึ่งในน้ำตกที่ตั้งอยู่ในเขต “บ้านโผลง” หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
น้ำตกฉัตรวาริน เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 7 ชั้น ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี และยังมีชั้นของน้ำตกที่กว้างขวางแต่ไม่สูงจนเกินไป และแอ่งน้ำด้านล่างเหมาะให้ทุกคนมานอนแช่น้ำกันแบบสุดๆ ที่นี่จึงกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ของชาวนราฯ เวลาอยากหาสถานที่ให้มาพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดกันแบบทั้งครอบครัว
โดยนอกจากความสวยงามของน้ำตกแล้ว ที่นี่ยังมีตำนานสนุกๆ ที่เราแอบได้ยินมาว่า ชื่อ “ฉัตรวาริน” นั้นมาจากเรื่องลึกลับที่ชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมาด้วย!
ตำนานนั้นเล่าว่า เมื่อก่อนเคยมีคนที่อาศัยอยู่ใกล้น้ำตกได้ยินเสียงดนตรีมะโย่ง หรือ ดนตรีพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมะลายูดังลอยมาจากด้านบนของน้ำตก แต่เมื่อตามขึ้นไปดูก็ไม่เห็นใคร จนวันหนึ่งเลยให้ผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านตามขึ้นไปดู ผู้เฒ่าจึงได้พบกับชายหญิงคู่หนึ่งที่ออกมาร่ายรำตามทำนองเพลงมะโย่งอยู่บนหน้าผาของน้ำตกโดยมีร่มขนาดใหญ่หรือ “ฉัตร” กางอยู่เหนือหัว พักเดียวก็หายวับไป จากตำนานนี้ชาวบ้านจึงนำมาตั้งชื่อเป็นเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “น้ำตกไอปายง” ที่แปลว่า “น้ำตกกางร่ม” ก่อนที่ในปี 2510 ทางอำเภอจะได้เข้ามาทำการปรับปรุงให้น้ำตกแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และตั้งชื่อของน้ำแห่งนี้อย่างเป็นทางการซะใหม่โดยอ้างอิจากความหมายเดิมว่า “น้ำตกฉัตรวาริน”
Tips : นอกจากตัวน้ำตกสวยๆที่เหมาะกับการเล่นน้ำแล้ว ที่นี่เป็นป่าที่ร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์แบบสุดๆ โดยหากเดินขึ้นเขาต่อไปอีกประมาณ 1 เหนื่อย เราจะสามารถมองเห็นมาตรวัดความอุดมสมบูรณ์อย่าง ‘รังนกเงือก’ ที่ซ่อนตัวอยู่บนยอดไม้ได้ และถ้ามีเวลามากพอ เราแนะนำให้ลองนั่งๆ นอนๆ เอาเท้าแช่น้ำตกรอ เพราะคุณอาจจะโชคดีได้เห็นนกเงือกสวยๆ บินเข้าออกจากรังด้วยนะ!
(แต่ถ้าอยากเดินขึ้นไปดูนกเงือกบนน้ำตกชั้นสูงๆ แบบนี้เราแนะนำว่าให้สะกิดพี่เจ้าหน้าที่อุทยานให้พาเดินขึ้นไป ไม่ควรเดินขึ้นไปด้วยตัวเองนะ!)
หลังออกเดินทางจากน้ำตกฉัตรวารินทร์ เราก็มุ่งหน้ามายังอำเภอสุคิริน ดินแดนใต้สุดของจังหวัดนราธิวาสติดกับประเทศมาเลเซีย ที่รายล้อมไปด้วยเทือกเขาอันอุดมสมบูรณ์และความเขียวชอุ่มของผืนป่าฮาลา-บาลา ที่ทำให้ที่นี่ทำให้มีอากาศบริสุทธิ์และเย็นสบายจนชมทะเลหมอกได้ตลอดทั้งปี ยิ่งในตอนเช้าหลังวันที่ฝนตกหนักๆ เมื่อไหร่ ทั้งถนนและหมู่บ้านจะแน่นไปด้วยหมอกจนไม่ต้องขึ้นไปดูบนยอดเขาเลยทีเดียว
และเพราะว่าภูมิประเทศของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและป่าทึบ อย่างแรกที่เราจะไปทำกันในวันนี้ก็คือการ “ล่องแก่งลงเขา” กลางป่าในระยะทาง 7 กิโลเมตรกัน!
หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 : หมู่บ้านคอมมิวนิสต์มาลายากลางป่าดิบชื้น
แต่ก่อนจะล่องแก่งลงจากเขากันได้ เราก็ต้องไปขึ้นเขากันก่อน และต้นทางของเราในครั้งนี้ก็คือ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อดีตหมู่บ้านคอมมิวนิสต์มาลายาที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่าและยังคงบันทึกเรื่องราวปที่สำคัญของพื้นที่นี้เอาไว้อย่างครบถ้วนผ่านการปรับปรุงพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดยชาวชุมชน
เมื่อไปถึง เราก็แวะเข้าไปที่ “วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12” เพื่อติดต่อขอเช่าพระเอกในการเดินทางครั้งนี้ของเราอย่าง ‘เรือคายัค’ กันก่อน โดยนอกจากเรือคายัคแล้ว เพราะเราจะต้องไปผจญภัยกันในแก่งนานเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนลงเรือทุกคนจึงต้องใส่เสื้อขูชีพและหมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัยทุกครั้งด้วยนะ!
ระยะทางตลอดแนวล่องแก่งเป็นธารน้ำเล็กๆ ที่ในบางช่วงก็ลึกพอให้ได้ออกแรงพายเรียกเหงื่อ บางช่วงก็ตื้นพอให้เรือกระทบกับแก่งหินจนใจเต้นตุ้บๆ ลุ้นว่าเรือจะคว่ำกลางทางรึเปล่า โดยสิ่งทำให้เราชอบที่สุดในล่องแก่งสุดมาราธอนครั้งนี้ก็คือเส้นทางที่พาเราดำดิ่งลึกเข้าไปกลางป่าฝนเขตร้อนในแบบที่ใกล้ชิดเกินจินตนาการ เพราะยิ่งพายก็ยิ่งสงบและห่างไกลจากความวุ่นวายของถนนและบ้านคนจนเราอดไม่ได้ที่จะเผลอหยุดพายเป็นระยะๆ แล้วเอนหลังนอนหลับตาซึมซับกับความสดชื่นของป่ารอบตัว
พิพิธภัณฑ์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 : พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่อดีตคอมมิวนิสต์ในประวัติศาสตร์เป็นคนพาทัวร์!
พอขึ้นจากเรือไปอาบน้ำอาบท่า พักผ่อนกันจนหายเหนื่อยกันแล้ว เรามาปิดท้ายคืนนี้กันที่ “พิพิธภัณฑ์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12”
พิธภัณฑ์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 เป็นแหล่งรวบรวมภาพถ่าย หนังสือ และข้าวของเครื่องใช้ของเหล่าโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่หลบหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลมาเลเซียในช่วงปี พ.ศ.2491 – 2532 เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย
ข้าวของที่เราได้พบในวันนี้ก็มีตั้งแต่อาวุธยุทโธปกรณ์, วิทยุสื่อสาร, ลังเก็บของ, อุปกรณ์ทำอาหาร, เครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงเครื่องฉายหนังด้วยม้วนฟิล์มที่เป็นเสมือนเครื่องหย่อนใจเล็กๆ ในยามสงคราม แต่สิ่งที่พิเศษกว่าเหล่าข้าวของที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีก็คือ “ผู้คนในหมู่บ้านนี้” ที่เกือบทั้งหมดล้วนแต่สืบเชื้อสายต่อมาจากเหล่าบรรพบุรุษที่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ที่นี่ต่อมาหลังการรบยุติลงอย่างเป็นทางการ นำโดย “คุณดรอแม บินซา” ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 และผองเพื่อนอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาตัวจริงเสียงจริงที่ยังอยู่อาศัยที่นี่ในปัจจุบัน
พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา หรือ โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) ที่เคยตั้งค่ายอยู่ที่นี่ คือ “หน่วยปฏิบัติงานกลางชาวมาลายา” หรือ กรม 10 ที่ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การอำนวยการของหน่วยปฏิบัติงานกลางมาเลเซีย โดยสมาชิกส่วนใหญ่ในพรรคเป็นชาวมุสลิม จีน และชนชาติอื่นๆ เรียงตามลำดับ โดยปัจจุบันการดำเนินงานของพรรคได้ยุติลงไปแล้วหลังจากที่รัฐบาลไทยลงนามเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ และ สลายกองกำลังให้กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในปี 2532
ค่ำคืนนี้จึงเป็นค่ำคืนที่เราหลับไปโดยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นเหมือนนิทานกล่อมนอน
เขาน้ำใส : ทะเลหมอกแดนใต้ที่มาพร้อมสายรุ้งยามเช้า
หลังนอนหลับกันจนเต็มอิ่ม เช้าวันนี้เราตื่นแต่เช้าตรู่นั่งรถขึ้นเขาโดยมีเป้าหมายคือการไปดูทะเลหมอกชายแดนใต้ที่ดูได้เสมอในหน้าฝน โดยจุดมุ่งหมายของเราในวันนี้คือ “เขาน้ำใส” จุดชมทะเลหมอกน้องใหม่ที่ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันปลุกปั้นขึ้นมา โดยเขาน้ำใสแห่งนี้นอกจากจะสามารถขึ้นไปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกสวยๆ ได้แล้ว ยังสามารถขึ้นไปกางเต็นท์รับลมหนาวบนยอดเขากันได้ด้วย
เช้านี้เราขับรถฝ่าสายหมอกและความมืดออกจากที่พักตั้งแต่ตี 5 แล้วมุ่งหน้าขึ้นเขา โดยการขึ้นเขาน้ำใสจะมีน้องๆ กลุ่มเยาวชนบ้านน้ำใสเป็นคนคอยดูแลและขับรถพาเหล่าผู้มาเยือนขึ้นไปเพื่อความปลอดภัย เพราะเส้นทางขึ้นเขาค่อนข้างชันและอันตรายหากต้องเดินทางด้วยตัวเอง แต่เมื่อลงจากรถแล้วเดินต่ออีกไม่ไกลเราก็จะถึงจุดชมวิวทะเลหมอกกันแล้ว
นอกจากวิวทะเลหมอกสวยๆ ที่สามารถมองเห็นได้แบบเกือบ 360 องศาที่โอบล้อมรอบผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์แบบสุดๆ และพระอาทิตย์ที่ค่อยๆลอยขึ้นจากขอบฟ้าแล้ว วันนี้เรายังได้พบกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่าง ‘สายรุ้ง’ กลางทะเลหมอกอีกด้วย! เพราะถึงแม้ตอนนี้จะไม่ได้มีฝนตกแต่เมื่อไอน้ำและความชื้นของหมอกหนาที่ลงจัดมาเจอกับแสงอาทิตย์แรกของวัน สายรุ้งสวยๆ ก็แวะเข้ามาทักทายพวกเราให้อุ่นใจ~
เขาน้ำใสปิดวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันพฤหัสบดี ถ้าใครอยากขึ้นมาชมทะเลหมอกแบบนี้สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กลุ่มเยาวชนบ้านน้ำใสนะ!
065-7534379 P’โกเมท
099-3060038 P’อาริส
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ : ต้นกำเนิดเจ้าแม่โต๊ะโมะในเมืองเหมืองทอง
ตำบลโต๊ะโมะ เป็นตำบลที่โดดเด่นในเรื่องของการเป็นอดีตเมืองเหมืองทอง ที่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีอาชีพเสริมเป็นการ “ร่อนทอง” ในลำธารที่ไหลลงมาจากเขาโต๊ะโมะและเหมืองทองเพื่อตามหาเศษทองคำที่ยังคงตกค้างอยู่ในน้ำ โดยนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ เองก็สามารถเข้ามาหัดร่อนทองกับพี่ๆ ชาวบ้านได้เหมือนกัน โดยหากร่อนเจอทอง พี่ๆก็ยังอนุญาตให้เราเอากลับบ้านไปเป็นที่ระลึกได้ด้วยนะ! ดังนั้นเช้าวันนี้ก่อนที่จะลงไปเสี่ยงโชค เราจึงเดินทางขึ้นเขามาขอพร “เจ้าแม่โต๊ะโมะ” หรือ “เจ้าแม่มาจู่” ให้ช่วยอวยพรให้เราโชคดีในวันนี้
ไม่ว่าจะเป็นการค้นข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตหรือเมื่อเวลามีใครพูดถึงคำว่า “เจ้าแม่โต๊ะโมะ” หลายคนคงนึกถึง “ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ” และ “งานสมโภชเจ้าแม่โต๊ะโมะ” ประเพณีที่สำคัญของอ.สุไหงโกลกเป็นอย่างแรกแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วก่อนจะกลายมาเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่นี้ ตำนานเจ้าแม่โต๊ะโมะ มีต้นกำเนิดมาจาก “ตำลโต๊ะโมะ” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสุคิรินแห่งนี้
ตำนานเล่าว่า ในสมัยก่อนสงครามเอเชียบูรพามีชาวอังกฤษได้สัมปทานเหมืองแร่ที่เขาโต๊ะโมะและได้เข้ามาตั้งต้นทำกิจการเหมืองที่นี่ โดยจ้างให้ “กัปตันคิว” เป็นหัวหน้าคนงาน กัปตันคิวนั้นเลื่อมใสศรัทธาในองค์เจ้าแม่มาจู่เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ทุกครั้งก่อนจะมีการขุดเหมืองแร่หรือทำการสำรวจ จะต้องประทับร่างทรงเจ้าแม่เพื่อปรึกษาก่อนทุกครั้ง จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อกัปตันคิวไม่อยู่และทีมงานลงมือขุดเหมืองโดยไม่สนใจคำเตือนของเจ้าแม่จนทำให้เกิดดินถล่มทับคนงานตาย เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำจึงเกิดความเลื่อมใสและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง และลงทุนให้กัปตันคิวเดินทางไปอัญเชิญองค์จำลองของเจ้าแม่มาตั้งศาลที่เขาโต๊ะโมะจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่ภายหลังลูกชายของกัปตันคิวจะเดินทางขึ้นเขาไปอัญเชิญกระถางธูปจากศาลเจ้าแห่งนี้ลงไปไว้ที่อำเภอแว้งและอำเภอสุไหงโกลก จนกลายเป็นงานประเพณีสมโภชองค์เจ้าแม่โต๊ะโมะที่โด่งดังในปัจจุบัน
ทดลองเป็นนักเสี่ยงโชคด้วยการ “ร่อนทอง”
อย่างที่เล่าไปแล้วว่า ตำบลโต๊ะโมะ เป็นตำบลที่มีการทำเหมืองทองมาอย่างยาวนานในอดีต หลังจากแวะไปขอพรเจ้าแม่โต๊ะโมะที่ปกติจะคอยอวยพรเหล่าคนงานให้สามารถทำเหมืองได้อย่างราบรื่นแล้ว เราก็เดินทางมาที่ริมฝั่งแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านบริเวณที่เคยมีการขุดเพื่อทำเหมืองแร่ เพื่อมาทดลองเป็น ‘นักเสี่ยงโชคฝึกหัด’ ด้วยการร่อนทอง 1 วัน!
เมื่อมาถึงเราก็ต้องเปลี่ยนชุดให้เป็นเสื้อผ้าที่เปียกได้กันซะก่อน เพราะวิธีการร่อนทองที่ปกติพี่ๆ ชาวบ้านทำกันนั้นไม่ใช่ว่าจะร่อนจากที่ไหนก็ได้แต่ทุกคนจะต้องเดินลงไปร่อนกันในแม่น้ำเท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญนอกจากฝีมือในการร่อนแล้ว อีกสิ่งหนึงที่ทำให้ในแต่ละครั้งเราเจอทองมากน้อยต่างกันก็คือ “ดิน” เพราะดินในแต่ละระดับความสูงจากกพื้นผิวก็ย่อมมีสิ่งตกลงค้างแตกต่างกัน ทำให้ๆชาวบ้านจำเป็นต้องใช้จอบหรือพลั่ว ขุดเป็นหลุมลึกลงไปใต้แม่น้า เพื่อนำดินจากความลึกต่างๆมาใช้ในการร่อน
เมื่อได้ดินมาแล้วก็ใช้พลั่วตักใส่ลงในถาดไม้โค้งขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกระทะ แล้วค่อยๆ ร่อนไปรอบๆ เพื่อให้ดินและหินถูกน้ำซัดออกจากถาดไป เหลือทิ้งไว้แค่ “ทอง” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดหลงเหลืออยู่ในถาด บอกเลยว่าถึงจะฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถ้าไม่ฝึกการควบคุมน้ำหนักของมือและท่าทางในการร่อนจนชำนาญ จะร่อนนานแค่ไหนก็ไม่ใช่ว่าจะได้เจอทองกันง่ายๆ เพราะพลาดนิดเดียวทองก็ไหลออกจากถาดไปพร้อมกับน้ำและดิน
พอได้มาลองทำจริงๆถึงได้รู้ว่าแค่โชคคงไม่พอ เพราะกว่าวันนั้นจะได้ทองกลับบ้านมาเป็นของที่ระลึกเสี้ยวเล็กๆ พี่ๆ ชาวบ้านต้องทั้งสอนเราในทุกขั้นตอน และยังขุดแล้วขุดอีกเพื่อตักดินขึ้นมาให้เราได้ร่อนกันซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนั้นจนกล้ามแทบขึ้นเลยแหละ!
ต้นกระพงยักษ์ : ไม้ป่าดงดิบขนาด 27 คนโอบกลางป่าฮาลาบาลา
หลังขึ้นจากน้ำ เราก็ใกล้จะถึงเวลาที่จะต้องบอกลาอำเภอสุคิรินกันเต็มที แต่ก่อนจะจากอำเภอนี้ไป ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่แบๆ ก๊ะๆ ย้ำว่าถ้ามาสุคิรินแล้วพลาดไม่ได้ นั่นก็คือ “ต้นกระพงยักษ์” ที่ซ่อนตัวอยู่ใน “หน่วยพิทักษ์ภูเขาทอง” ข้างน้ำตกศรีทักษิณ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา
และพอได้มาที่นี่ เราก็พบว่า มันพลาดไม่ได้จริงๆ ! เพราะเจ้าต้นสมพง หรือที่ทุกคนเรียกว่า “ต้นกระพงยักษ์” ต้นนี้ ได้กลายมาเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยได้เห็นในชีวิตอย่างที่หาไม่ได้จากที่ไหน เพราะมันที่สูงมากถึง 30 เมตร และยังมีขนาดของเส้นรอบวงที่ยาวถึง 25 เมตร! โดยถ้าพาผู้คนเข้าไปยืนจับมือกันรอบๆ ต้องใช้คนมากถึง 27 คนเลยทีเดียวถึงจะล้อมรอบลำต้นได้ครบ 1 รอบ!
นอกจากความยิ่งใหญ่จนต้องอ้าปากค้างแล้วค้างอีก อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกมหัศจรรย์ก็คือเส้นทางที่นำเราเข้าไปพบกับเจ้าต้นกระพง เพราะหลายคน (รวมทั้งเราด้วย) อาจจะคิดว่า การจะได้เข้าไปดูต้นไม้โบราณที่ใหญ่โตขนาดนี้ เส้นทางคงต้องบุกป่าฝ่าตะลุยไม่เบา แต่จริงๆ ระยะทางจากบริเวณที่จอดรถไปจนถึงต้นกระพงยักษ์นั้นมีระยะเดินเท้าแค่ประมาณ 100 – 200 เมตร เท่านั้นเอง โดยตลอดทางโอบล้อมไปด้วยบรรยากาศของป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ ลำธารใสสะอาด และต้นไม้ขนาดสูงท่วมหัวจนเกือบมองไม่เห็นแสงตะวัน จนถ้าไม่ได้มาเดินเองก็คงเชื่อไม่ลงจริงๆว่าเพียงแค่ไม่กี่ก้าวจากถนน เราจะวาร์ปเข้ามาอยู่กลางป่าดิบซื้นที่แสนสงบได้ขนาดนี้
วัดพระธาตุภูเขาทอง : พระธาตุบนยอดเขาริมชายแดนไทย-มาเลเซีย
และสถานที่สุดท้ายที่เราได้มาเยือนก่อนจะต้องโบกมือลาสุคิรินกันในวันนี้ก็คือ วัดพระธาตุภูเขาทอง ศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในอำเภอสุคิรินที่ซ่อนตัวอย่างสงบอยู่ท่ามกลางป่าไม้และขุนเขาริมชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่นอกจากจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยสุดๆ ในตอนเย็นแล้ว ในตอนเช้ายังเป็นสถานที่ชมวิวทะเลหมอกอีกแห่งนึงที่สำคัญมากของสุคิริน และยังเป็นวัดเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่คุณสามารถเข้ามากางเต้นท์นอนรอชมทะเลหมอกได้
แต่ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะแวะมาในเวลากลางวัน อากาศบนนี้ก็ปลอดโปร่งเย็นสบายด้วยความกว้างขวางของพื้นที่รอบๆ ความสูงและบรรดายอดเขาที่ล้อมรอบอยู่ทั้ง 360 องศา โดยฝั่งหนึ่งของแนวเขาที่มองเห็นจากบนนี้คือภูเขาที่ตั้งอยู่ในเขตแดนของประเทศมาเลเซีย การบอกลาสุคิรินในครั้งนี้เราจึงได้บอกมาลาไกลถึงริมชายแดนไทย-มาเลเซียกันเลยทีเดียว
หมู่บ้านชาวประมงบ้านทอนอามาน
เมื่อเดินทางออกจากสุคิรินกันแล้ว เราก็ใช้เวลาช่วงบ่ายวันสุดท้ายของทริปตีรถกลับขึ้นไปยังอำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส และแวะไปโบกมือลาแสงสุดท้ายกันที่ริมชายหาดบ้านทอน ชุมชนบ้านทอนอามาน หมู่บ้านชาวประมงริมทะเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินนราธิวาสแค่เพียงไม่กี่อึดใจ
โดยที่นี่ผู้ชายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก ส่วนผู้หญิงจะทำงานฝีมือต่างๆ โดยเสื่อและกระเป๋าจากต้นกระจูด สินค้า OTOP ชื่อดังของนราธิวาสซึ่งถูกต่อยอดออกไปให้มีลวดลายและสีสันที่สวยงามพร้อมสื่อสารเรื่องราวของวิถีชีวิตภายในหมู่บ้านชาวประมงออกมาผ่านการถักทอลวดลายด้วยเทคนิคดั้งเดิม ก็มีต้นกำเนิดอยู่ที่บ้านทอนนี่เอง
พี่ๆ ชาวเรือเล่าให้เราฟังว่า ปกติแล้วจะออกเรือในช่วงเดือน 1-7 ที่ไม่เจอมรสุม ส่วนในช่วงที่ไม่สามารถออกเรือได้ พี่ๆ ก็จะพักซ่อมแซมเรือ ซ่อมแซมอวน และดูแลรักษาอุปกรณ์ให้อยู่สภาพดี พร้อมทั้งช่วยภรรยาทำงานที่บ้าน รอวันที่จะได้ออกเรืออีกครั้ง
ในช่วงเดือนที่มีการออกเรือ ริมชายหาดบ้านทอนจะเต็มไปด้วยเรือประมงลำน้อยใหญ่หลากหลายสีสันที่จอดเรียงรายกันรอเวลาออกเรือ แต่ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานี้จะไม่ใช่ช่วงที่เหมาะจะทำการประมงแต่บรรยากาศยามเย็นริมหาดบ้านทอนก็ไม่เงียบสงัด เพราะเต็มไปด้วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนที่ออกมานั่งๆ นอนๆ กินอาหาร และเล่นน้ำริมชายหาด เปลี่ยนให้บรรยากาศที่เงียบสงบสดใสขึ้นมาทันที
การเดินทางครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า นอกจากดินแดนริมเส้นขอบเขตแดนแห่งนี้จะไม่น่ากลัวซักนิดและยังเต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงามกว่าที่คิดแล้ว ช่วงเวลาที่ธรรมชาติสวยงามที่สุดก็ไม่ใช่ตอนไหนนอกจากเวลาธรรมชาติและผู้คนได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ดังนั้นถ้าใครเที่ยวเสร็จแล้วยังมีแรงเหลือ เราอยากชวนทุกคนมาเข้าใจประเด็นปัญหาที่ดินอุทยานฯ รอบเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี และการต่อสู้ของเหล่าคนท้องถิ่นที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ให้มากขึ้นผ่านสายตาและสำเนียงของสื่อและศิลปินที่จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนบนเทือกเขาบูโด สามจัดหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ชาวบ้านกำลังต่อสู้กันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินของชุมชน ซึ่งเปลี่ยนให้ ‘ผู้อยู่อาศัยมาก่อน’ กลายเป็น ‘ผู้ทำผิดกฏหมาย’ ด้วยกันต่อได้ที่
https://bit.ly/2Nst59I
เพราะเสียงของคนตัวเล็กคือสิ่งที่เราอยากให้คุณฟัง
ตามไป “ฟัง” เรื่องราวอื่นๆ รอบเทือกบูโดในแง่มุมที่แตกต่างจากนี้ได้ที่
Attention.studio
Contributors
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย
แทนไท นามเสน
Photographerนักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม