Spoiler Alert!
“อะไรคือสิ่งที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องฟ้องร้องพ่อแม่ของตัวเอง
ในโทษฐานที่ทำให้เขาต้องเกิดขึ้นมา?”
ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ที่นำไปสู่ชะตากรรมอันขมขื่นกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวละครมากมาย เป็นประเด็นที่นำภาพยนตร์เรื่องปรสิต (Parasite) ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ไปสู่การคว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติบนเวทีลูกโลกทองคำ (The Golden Globes) ประจำปี ค.ศ.2020 ได้ในที่สุด และเป็นภาพยนตร์ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยได้อย่างเผ็ดร้อนจนเป็นหนึ่งในกระแสสำคัญประจำปีที่ผ่านมาของบ้านเรา
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว มีภาพยนตร์จากโลกตะวันออกกลางเรื่องหนึ่งได้นำเสนอประเด็นใกล้เคียงกันเอาไว้อย่างเข้มข้น และภาพยนตร์เรื่องที่ว่าก็คือ ‘Carpernaum’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ เซน เด็กชายวัยสิบสองปีผู้ตัดสินใจยื่นฟ้องร้องผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองต่อศาล ในโทษฐานความผิดที่ทำให้ตัวเขาต้องเกิดมามีชีวิตที่ยากลำบากบนโลกใบนี้
แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เซนเลือกทำแบบนั้น วันนี้คอลัมน์ Join Well จะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับภาพยนตร์เรื่องนี้กัน
Carpernaum (คำนี้แปลได้หลายความหมายว่า ไม่ว่าจะเป็นความยุ่งเหยิง บ้างก็แปลความมหัศจรรย์ และยังหมายถึงเมืองอันเป็นที่พำนักของพระเยซูตามคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาใหม่) เป็นเรื่องราวของ เซน เด็กชายวัยสิบสองปีที่เกิดในครอบครัวชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนแออัดใจกลางกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน ผู้ถูกชะตากรรมชีวิตทำร้ายตั้งแต่ความหมางเมินจากพ่อแม่ จนถึงการใช้ชีวิตอย่างอดอยากบนท้องถนน ชีวิตที่หมดหนทางบีบให้เขาตัดสินใจก่ออาชญากรรมที่นำไปสู่การตัดสินใจยื่นฟ้องร้องผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองต่อศาล ในฐานความผิดที่ทำให้ตัวเองเกิดมามีชีวิตที่ยากลำบาก
เซนเกิดมาในครอบครัวชาวมุสลิมที่มีลูกหลายคน อาศัยอยู่ในห้องแถวแออัด ครอบครัวเองไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกทุกคนในมีสุขภาวะที่ดี อีกทั้งยังหาเงินมาจุนเจือค่าเช่าห้องแต่ละเดือนอยู่ตลอด ในฐานะลูกชายคนโต เซนต้องออกมาทำงานพร้อมน้องๆ เพื่อเลี้ยงชีพ แม้ว่าพวกเขาทุกคนจะอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะเลยก็ตาม
แม้ว่าจะต้องใช้ชีวิตลำบากขนาดไหน แต่เซนก็ยังคงหนักแน่นและเข้มแข็งอยู่เสมอ เขาพยายามอย่างหนักที่จะเป็นที่พึ่งให้กับน้องๆ โดยเฉพาะน้องสาวที่เขาสนิทที่สุด ซาฮาร์ ที่เซนพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเธอจากความเลวร้ายของโลกใบนี้
ตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้มองเห็นทุกแง่มุมของโลกที่เซนเติบโตมา ความแออัดยัดเยียดของเมืองใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และการล่มสลายของการจัดการประชากรที่เกิดขึ้นเพราะสงครามกลางเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในดินแดนแถบนี้มาหลายทศวรรษ
สภาพสังคมที่ตัดแต่งให้ทุกชีวิตที่เกิดและเติบโต ณ ที่แห่งนี้ ต่างต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด และที่เลวร้ายที่สุด คือการขายชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่อแลกกับโอกาสที่ตนเองจะมีชีวิตรอดต่อไป ซึ่งเซนเองก็ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ลำบากใจเช่นนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้เส้นชีวิตของเขากับครอบครัวเริ่มแตกออกจากกัน
ขณะเดียวกัน การอพยพไหลบ่าของชาวแอฟริกาเพื่อหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในต่างแดน แต่กลับถูกเอารัดเอาเปรียบและหลอกลวงจนตกเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์โลกที่ผู้คนจากแอฟริกาและตะวันออกกลางต่างหลบหนีจากบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่ชีวิตใหม่ในยุโรป ก็เกิดขึ้นในมหานครหลวงแห่งเลบานอนเช่นเดียวกัน
ราฮิล สาวชาวเอธิโอเปียที่ลักลอบเอาประเทศมาเพื่อหางานทำพร้อม โยนัส ลูกชายที่ยังเด็ก เป็นการใช้ชีวิตที่เสี่ยงอันตรายแบบวันต่อวัน เพราะเธอกลัวว่าจะถูกจับได้และถูกส่งกลับประเทศ วันหนึ่งเธอพบกับเซนที่หนีออกมาจากครอบครัว จึงให้ความช่วยเหลือที่พักและอาหารแก่เขา แลกกับการที่เซนดูแลโยนัสระหว่างที่เธอไปทำงาน
แต่สุดท้าย ความโหดร้ายของชีวิตก็บีบให้เซนก่อคดีอาชญากรรม และสิ่งนั้นก็ทรงพลังมากพอที่ทำให้เขาตัดสินใจฟ้องร้องพ่อแม่ตนเองต่อศาล ในโทษฐานทำให้ตนได้เกิดมาเพื่อมีชีวิตที่เหมือนตกอยู่ในนรก เพื่อกล่าวโทษถึงความล้มเหลวในการจัดการครอบครัวของพวกเขา จนนำไปสู่การทำลายจิตใจของทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องจนสิ้นซาก เพื่อให้ตนเองและทุกคนที่เกี่ยวข้องหลุดพ้นจากวงจรหายนะนี้เสียที
ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะอิริยาบถที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้นราวกับว่าเรากำลังมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นชีวิตของพวกเขาจริงๆ ไม่ใช่การแสดง ไม่ว่าจะเป็นการรับบท เซน โดยเด็กชายชาวซีเรีย เซน อัล-ราฟีอา (Zain al-Rafeea) ซึ่งมีการแสดงที่เป็นธรรมชาติ สามารถทำให้เราคล้อยตามและดำดิ่งสู่ความโหดร้ายในชะตากรรมของเด็กชายคนหนึ่งได้อย่างหมดจด
โดยภายหลังผู้กำกับ นาดีน เลบากี (Nadine Labaki) ได้ออกมาเปิดเผยว่าเค้าโครงภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริง และเซน รวมถึงนักแสดงคนอื่นๆ เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่เคยอยู่อาศัยในประเทศเลบานอนจริงๆ อีกด้วย (ปัจจุบันเซนและครอบครัวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์แล้ว)
และยังเปิดเผยต่ออีกว่านักแสดงส่วนใหญ่ไม่ใช่นักแสดงอาชีพ อีกทั้งพวกเขามีประสบการณ์การเป็นผู้อพยพภัยสงครามในตะวันออกกลางมาก่อนจริงๆ ทำให้การแสดงของพวกเขาเกิดขึ้นไปตามสัญชาตญาณ จะแต่ก็สามารถสื่อสารและแสดงความสมจริงของเรื่องราวได้ราวกับกำลังชมสารคดีชีวิตของเด็กผู้ยากไร้ชาวเบรุตอย่างแท้จริง
กระแสความชื่นชมต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะผู้ตีแผ่ความโสมมของโลกแห่งสลัมในเบรุตอย่างถึงแก่นมีสูงมาก ซึ่งการันตีโดยรางวัล Jury Prize จากเวทีเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประเทศฝรั่งเศส ประจำปี ค.ศ.2018 เช่นเดียวกันกับกระแสเชิงลบที่มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะของการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของผู้ชม โดยใช้ชะตากรรมอันเลวร้ายของเด็กเป็นสื่อกลางก็รุนแรงมากไม่แพ้กัน
ที่มาของภาพ : https://www.thenational.ae/image/policy:1.829951:1551077416/07394181.jpg?f=16×9&w=1200&$p$f$w=8917ded
Contributors
แทนไท นามเสน
Writerนักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม