“การฟังแผ่นเสียงก็เหมือนการนั่งเรือ นั่งไปเรื่อยๆ ชมนกชมไม้ เอามือราน้ำ มองวิวข้างทาง
การฟังเพลงในซีดีหรือออนไลน์ก็เหมือนนั่งรถไฟฟ้า นั่งปุ๊บเอามือจับโทรศัพท์แป๊ปเดียวถึงแล้ว
การฟังแผ่นเสียงมันทำให้เราได้สังเกตรายละเอียดระหว่างทาง ระหว่างทุกร่องเสียงที่เล่นไป ได้ซึมซับกลิ่นอายในยุคนั้นที่ยังซ่อนอยู่ มันเป็นตัวเก็บอดีต เป็นแคปซูลกาลเวลา”
นี่ล่ะมั้ง คงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘พี่เอ็ม-ธีรยุทธ์ ยังมีสุข’ เจ้าของร้านแผ่นเสียง M TANAKORN Records ยังคงเลือกจะใช้เวลาอยู่กับเจ้าแผ่นกลมๆ เทอะทะส่งเสียงได้ที่ราคาแพงไม่ใช่น้อย แถมยังพ่วงมาด้วยความไม่สะดวกสบายเหมือนเวลากดฟังเพลงจากในโทรศัพท์มือถือมาตลอด 16 ปี จนขึ้นแท่นกลายเป็นเซียนอันดับต้นๆ ในวงการแผ่นเสียงไทย
วันนี้เราแวะมาใช้เวลาช่วงบ่ายเลือกหยิบแผ่นเสียงมาเปิดคลอแล้วนั่งคุยกับพี่เอ็มถึงความสำคัญของ “ดนตรี” และชีวิตใหม่ที่ดนตรีมอบให้ ในบรรยากาศของร้านเก่าเจ้าเดิมที่ถูกต่อเติมด้านหน้าซะใหม่เพื่อปรับตัวในสถานการณ์โควิดซึ่งทำให้ร้านกาแฟถึงสองเจ้าที่เคยเช่าอยู่ด้วยกันจำเป็นต้องปิดตัวลง
แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจก็ไม่ดีแถมยังมีโรคระบาดเต็มเมือง อะไรล่ะที่ทำให้ร้านขายแผ่นเสียงที่ดูจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยร้านนี้ยังคงอยู่รอดและมีพี่ๆ น้องๆ แวะเวียนมาซื้อหาแผ่นเสียงกันตลอดทั้งวัน (หรือบางทีก็ทั้งคืน!) จะเป็นเพราะความสนุกจากบทสนทนาที่พี่เอ็มมีให้ หรือเพราะความอ่อนโยนแช่มช้าที่หาไม่ได้ที่ไหนนอกจากบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง เราอยากชวนคุณมาหาคำตอบกัน
พี่เอ็มบอกว่า “แผ่นเสียงเนี่ย อาจจะต้องใช้เวลากับมันหน่อย แต่คุณจะได้รู้ว่าคุณภาพของมันจริงๆ คืออะไร สิ่งที่มันกำลังบอกเราคืออะไร อะไรที่ทำให้มันยังอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ พอฟังแล้วก็จะรู้เองว่าคืออะไร”
คอนเท้นต์นี้ก็เหมือนกัน :p
Track01 : Yesterday Once More – The Carpenters
พี่เอ็มเล่าว่าก่อนจะมาเป็นเจ้าของร้าน M TANAKORN Records หรือร้านขายแผนเสียงสุดเก๋าที่ตั้งอยู่บนถนนหลวง ใกล้กับโรงพยาบาลกลางและคั่วไก่แอนอย่างวันนี้ เส้นทางสายดนตรีของพี่เอ็มเริ่มต้นขึ้นในยุควิกฤตต้มยำกุ้งหรือการล่มสลายของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2540
ในวันนั้นพี่เอ็มเป็นพนักงานประจำฝ่ายการตลาดในบริษัทนำเข้าเครื่องแก้วต่างประเทศที่ถูกปลดออกจากบริษัทเพราะพิษเศรษฐกิจ ที่พ่วงมาด้วยค่าบ้านและค่ารถที่ยังผ่อนไม่หมด เมื่อไม่มีอาชีพ ไม่มีเงินทุน แต่ยังต้องเอาตัวรอดให้ได้ พี่เอ็มจึงเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการขุดเอาหนังสือและซีดีเพลงเก่าๆ ที่มีอยู่ในบ้านไปลองวางขายตามตลาดนัด
“ตอนนั้นตกงานแล้ว รถโดนยึดไปแล้ว บ้านก็กำลังจะถูกยึด แต่ปรากฏว่ามันขายหมดเลยภายในวันเดียว เอามาลงอีกก็ขายหมดอีก กลายเป็นว่าของที่เราเก็บไว้มันมีค่ามากๆ พอของที่บ้านไม่มีแล้วก็เลยเริ่มไปจับของตามตลาดนัดมาขาย แล้วก็ได้ไปเจอแผ่นเสียง แล้วเราเป็นคนฟังเพลงเยอะอยู่แล้ว เราก็เลยรู้จักเพลง รู้จักศิลปินต่างๆ อยู่แล้ว สมัยนั้นมันแผ่นละ 100 เอง เราก็เลยเลือกมา 4-5 แผ่นมาลองวาง”
และแน่นอนว่าแผ่นเสียง 4-5 แผ่นในวันนั้นก็เปลี่ยนชีวิตของพี่เอ็มไปทั้งชีวิต เพราะกลายมาสิ่งที่จุดประกายให้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ในอาชีพใหม่อย่างการเป็น “คนขายแผ่นเสียง”
“พี่ยังจำได้อยู่เลยว่าแผ่นแรกในชีวิตที่ขายได้คืออัลบั้ม HOTEL CALIFORNIA ของ EAGLES จากที่ซื้อมา 100 ตอนนั้นขายไปได้ 500 บาท มันเลยเหมือนเป็นการจุดประกายให้เราเห็นถึงคุณค่าของความรู้เรื่องดนตรีตรงนี้ที่ตัวเองมี เราก็เลยเริ่มหันมาจับแผ่นเสียง”
Track02 : 16 ปีแห่งความหลัง – สุรพล สมบัติเจริญ
หลังจากวันแรกที่ได้ค้นพบพลังแฝงเป็นความสามารถทางดนตรีและเริ่มเข้าสู่วงการแผ่นเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้ พี่เอ็มเล่าว่าคลุกคลีกับแผ่นเสียงมาแล้ว 16 ปี เป็น 16 ปีแห่งความหลังที่เต็มไปด้วยความทรงจำร่วมกับแผ่นเสียงกว่า “ล้านแผ่น” ที่เคยผ่านมือ โดยหลังจากเร่ิมหันมาขายแผ่นเสียงที่ตลาดรวมกับของเก่าอย่างอื่นได้สักพักก็มีเหตุการณ์สำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของพี่เอ็มอีกครั้ง
“พอเราเริ่มหันมาขายแผ่นเสียงมากๆ คนก็เริ่มบอกต่อกันว่าเรารับซื้อแผ่นเสียง วันนั้นมีทหารคนนึงเดินมาบอกว่า สถานีทางใต้กำลังจะโละแผ่นเสียงไปทิ้งนะ เอาไหม? แค่นี้เลย เราก็ตัดสินใจลงใต้ไปกับเค้า ปรากฏว่าตรงนั้นมีแผ่นเยอะมาก ขายอยู่แผ่นละ 5 บาท พี่เลยขนมา 4,000 แผ่น กลับกรุงเทพยังไม่ทันจะถึงบ้านเลย มีพ่อค้าที่เล่นแผ่นเสียงมาขอซื้อต่อไปประมาณ 20 แผ่น ก็ขายได้ 20,000 บาท เท่าทุนแล้ว อีก 3,900 กว่าแผ่น นั่นคือกำไรมโหฬาร”
เหตุการณ์ครั้งนั้นยิ่งเป็นเหมือนการพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าแผ่นเสียงและดนตรีนั้นเป็นได้มากกว่างานอดิเรกจริงๆ หลังจากนั้นพี่เอ็มจึงเริ่มวิ่งหาซื้อแผ่นเสียงเก่าตามสถานีและบ้านคนที่กำลังจะทิ้งหรือเก็บเอาไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสะสมไว้เรื่อยๆ พร้อมทั้งปล่อยขายตามตลาดนัดและช่องทางออนไลน์ต่างๆ และศึกษาเรื่องอัลบั้ม เพลง หรือปั๊ม ที่ส่งผลต่อราคา ต่อยอดเป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี
โดยเมื่อเราถามว่าแล้วเป็นไงมาไง M TANAKORN Records ถึงเลือกมาเปิดร้านอยู่บนถนนหลวงอย่างทุกวันนี้ พี่เอ็มก็บอกว่าคงต้องย้อนไปถึงสมัยที่คลองถมยังไม่ถูกจัดระเบียบ เพราะ M TANAKORN Records เคยเป็นแผงขายแผ่นเสียงเล็กๆ แผงหนึ่งในคลองถมที่จะมาตั้งร้านอยู่บนฟุตบาธหน้าธนาคารกรุงเทพทุกวันเสาร์
“พี่จะมาขายตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงมืด เดือนละ 4 วัน ทุกวันเสาร์ พอถึงบ่ายสองโมงที่เราจะมาลงแผ่น ลูกค้าประจำก็จะมายืนรอกัน แต่ละสัปดาห์ก็จะเอาแผ่นมาลงอาทิตย์ละ 10 ลัง ไม่เยอะมาก เพราะที่มันน้อย ลูกค้าก็จะมายืนรอแล้วก็ช่วยยกลง ยกลงเสร็จก็เลือกใครเลือกมัน แต่ปรากฏว่าเปิดแผงไปได้ประมาณ 4 เดือน คลองถมก็ถูกจัดระเบียบ เราเลยลองหาที่ดูเพื่อลงหลักปักฐานแถวนี้เลย เพราะมันก็เป็นแหล่งของเก่าแบบนี้อยู่แล้ว เผื่อว่าวันนึงคลองถมจะกลับมา”
Track03 : Time In A Bottle – Jim Croce
“การฟังแผ่นเสียงมันทำให้ได้ซึมซับบรรยากาศกลิ่นอายในยุคนั้นที่มันยังซ่อนอยู่ในนั้น ได้นึกถึงช่วงเวลาที่เราเคยเจอตอนที่ฟังเพลงเดิมๆ เราเคยชอบสาวคนนั้น ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง มีผัวไปรึยังวะ ตอนฟังคีรีบูนนี่เราบวชอยู่นี่หว่า มีพระกะเทยแอบมาจับก้น ความทรงจำตอนนั้นมันกลับมาหมดเลย มันเป็นตัวเก็บอดีต เป็นแคปซูลกาลเวลา”
ประโยคติดตลกของพี่เอ็มประโยคนี้ทำให้เรารู้ว่าสำหรับพี่เอ็ม “แผ่นเสียงคือเครื่องเก็บความทรงจำ” ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันแผ่นเสียงเกือบ 100% ของ M TANAKORN Records จะเป็นแผ่นมือสองที่ส่งต่อมาจากอดีตเกือบทั้งหมด แน่นอนว่าเสียงเพลงจากอดีตเหล่านี้มีทั้งที่ถูกเก็บเอาไว้อยู่ในสภาพใหม่กิ๊ง จนถึงแผ่นที่เต็มไปด้วยรอยขีดข่วน แต่เมื่อมันยังคงบรรจุความทรงจำเอาไว้ แผ่นเสียงจึงไม่ได้มีค่าแค่ยามที่มันถูกเล่น แต่มีคุณค่ายิ่งกว่านั้น เหมือนเรื่องราวที่พี่เอ็มเล่าให้เราฟังในวันนี้
“เราเคยมีลูกค้าคนนึง เค้าทำงานเป็นแมสเซนเจอร์ส่งของ วันนั้นขับผ่านร้านเราเลยเข้ามาลองถามหาแผ่นเสียงแผ่นนึงซึ่งมันโนเนมมาก เป็นนักร้องที่ไม่มีใครรู้จัก แต่เราจำได้ว่ามี เราจำได้หมด เพราะเราอยู่กับแผ่นเสียงมา เราจับมันมาทุกแผ่น เราก็เลยถามว่า แผ่นที่อีกหน้านึงเป็นเพลงของคุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใสใช่ไหม เค้าก็บอกว่าใช่ๆ เราก็เลยไปหามา เป็นแผ่นที่ไม่มีคนซื้อเลย ขายอยู่ 200 ก็ไม่มีคนซื้อ พอหยิบมาให้ดูเค้าก็บอกว่า คนนี้คือผมเอง”
พี่เอ็มขยายความต่อว่า เพราะในอดีตนิยมโปรโมทนักร้องใหม่ด้วยการเอานักร้องดังมาแปะหน้า แล้วให้นักร้องใหม่ขึ้นปกหลัง ลูกค้าคนนี้ที่เป็นพนักงานขายในห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ซึ่งเขียนเพลงเอง ร้องเพลงได้ และมีความฝันอยากจะเป็นนักร้อง จึงถูกเลือกมาลองอัดแผ่น แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ แผ่นเสียงหน้าเดียวนั้นจึงเป็นเหมือนสิ่งสุดท้ายที่เช่ือมโยงเขากับความฝันในความทรงจำ เขาเลยอยากได้มันไปเก็บเอาไว้
นี่เองคือความมหัศจรรย์ที่แผ่นเสียงทำให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ
Track04 : Plastic Love – Takeuchi Mariya
อย่างที่บอกว่าแผ่นเสียงของที่นี่เป็นแผ่นมือสองเกือบทั้งหมด กว่าจะได้แผ่นเสียงมาขาย ถ้าเป็นแผ่นเสียงต่างประเทศ พี่เอ็มจะเป็นคนเข้าไปเลือกดูจากเว็บไซต์ของญี่ปุ่นหรืออเมริกา ประเมินราคา ความคุ้มค่าของสภาพ จำนวนแผ่น ศิลปิน และเพลง เพื่อเลือกประมูลแล้วนำเข้ามาขายในไทย
“เราต้องเข้าไปดูว่าเจ้านี้มีแผ่นไหนน่าสนใจ เซ็ทไหนน่าซื้อ แล้วก็ไปใส่ราคาประมูลแข่งกับเขา บางล็อตก็ได้ บางล็อตก็ไม่ได้ บางล็อตขาดทุนก็มี ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรทุกล็อต อยู่ที่การประเมินราคา”
แผ่นเพลงไทย พี่เอ็มบอกว่าจะหายากกว่ากันหน่อย เพราะไม่ได้มีแหล่งรวมให้สั่งซื้อแบบแผ่นต่างประเทศ พี่เอ็มเลยต้องเดินเลือกหาเอาเองจากตลาดนัด หรือรับซื้อเอาจากบ้านที่เลิกเล่นแผ่นเสียง
โดยเมื่อเราถามถึงการประเมินราคาของแผ่นเสียงที่ดูมีการแปรผันอยู่ตลอดเวลา พี่เอ็มก็เล่าให้ฟังว่าราคาของแผ่นเสียงมือสองนั้นแปรผันตาม 3 สิ่ง คือ ‘ความพอใจ’
“ราคาแผ่นเสียงมือสองมันแปรผันตามความพอใจเป็นหลักเลย อย่างพี่ไปซื้อ the beatles ชุดแรกมา ต่างประเทศขายเป็นหมื่นแต่บ้านเราไม่เล่นกัน สองสามพันยังขายยากเลย หรืออย่างในไทยเราแม้แต่แผ่นเดียวกันขายอยู่คนละร้านก็ยังราคาต่างกัน อย่างร้านพี่ขายแจ๊สถูก 300-400 ไปเจอในบางร้านก็อาจจะเป็นพันก็ได้ อยู่ที่ว่าขายที่ไหน กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ซึ่งถ้าเอา 300-400 ไปขายที่นั่น ลูกค้าตรงนั้นก็อาจจะไม่ซื้อก็ได้ มันถูกไป” (หัวเราะ)
‘เรื่องราวและความหายาก’
“อย่างแผ่นเสียงของอิ้งค์ วรันธร ตอนแรกออกมา 500 แผ่น แผ่นละ 1,500 ยังขายไม่หมดเลย พออิ้งค์ดังราคาก็กลายเป็น 10,000 บาท เพราะจำนวนของคนที่อยากได้มันเยอะขึ้นกว่าจำนวนแผ่นที่ผลิตออกมา ซึ่งไม่ได้มีการผลิตซ้ำ หรืออย่างของคาราบาว แผ่นที่แพงที่สุดของคาราบาวคือ ท.ทหารอดทน ช่วงพีคๆ น่าจะสูงถึงสามหมื่น ถึงมันจะรีออกมากี่รอบกี่รอบ ของเก่าก็ยังราคาประมาณนั้นอยู่ ด้วยคุณค่าของตัวมันเองในสมัยนั้น ถามว่าคุณค่าคืออะไร อัลบั้มนี้มันออกมาเพื่อด่ารัฐบาลทหารในยุคนั้น ในยุคที่เค้าหนีเข้าป่ากันตอนนั้น มันก็เลยมีเรื่องราวมีราคา”
และสุดท้ายก็คือ ‘ความสนใจของยุคสมัย’ ที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้พี่เอ็มต้องคอยอัพเดทเทรนด์ความสนใจอยู่ตลอดเวลา เพื่อเรียนรู้ว่าสังคมกำลังให้ความสนใจอะไร และตามหาอะไรในบทเพลง
“สมมติยุคนึงคนเล่นเพลงเก่า พวกสุเทพ ชรินทร์ ยุคแรกๆ ราคาก็จะสูง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาอยากย้อนกลับไปฟังเพลงในช่วงเวลาที่ตัวเองเคยเป็นวัยรุ่น พอคนกลุ่มนี้ได้ของครบแล้วราคาก็จะลง ผ่านมาอีกยุค วัยรุ่นที่โตมาในยุคเพลงสตริง หินเหล็กไฟ เสือ ธนพล โตเป็นผู้ใหญ่ อยากกลับมาเล่น ราคามันก็จะเริ่มขึ้นมา ต่อจากสตริงเป็นยุคอินดี้ ผลัดเปลี่ยนกันไป
อย่างช่วงนี้ก็จะมี City pop ที่กลับมา จริงๆ มันเป็นเพลงที่ออกมาตั้งแต่ยุค 80s ในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ไม่กี่ปี โดยมี tatsuro yamashita เป็นหัวเรือ เอาเพลงฝรั่งพวกฟังก์ โซล แจ๊ส ทั้งหลายมามิกซ์กับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ดังนั้นอายุมันจึงสั้นเพราะทุกคนทำเหมือนกันหมด ขายกันแผ่นละ 100-200 มันเลยห่างหายไปกว่า 30 ปีแล้ว จนตอนนี้ที่มันกลับมาเป็นกระแส ราคาก็ขึ้นเป็นแผ่นละ 2,000-3,000 หมดช่วงนี้ราคาก็จะลง แล้วแต่จังหวะความสนใจของเด็กวัยรุ่นตอนนั้น”
Track05 : MUSIC LOVER – มาช่า วัฒนพานิช
“บอกไม่ได้หรอกว่าฟังวันละกี่เพลง เพลงสำหรับคนอื่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่สำหรับพี่มันเป็นทั้งชีวิตเลย ช่วยสร้างตัว ช่วยให้มีตัวตน ช่วยให้มีที่ยืนในสังคม จากชีวิตที่มันริบหรี่ดับมอดลงไปแล้วมันก็กลับมามีไฟอีกครั้งนึง จนเดินมาอยู่แถวบนๆ ของวงการได้”
คือคำตอบเมื่อเราถามว่าพี่เอ็มฟังเพลงวันละประมาณกี่เพลง โดยพี่เอ็มบอกว่ามีแผ่นเสียงที่เก็บสะสมส่วนตัวอยู่ราวๆ 3,000 แผ่น ซึ่งถูกเขียนโน้ตชื่อเพลงที่ชอบเป็นพิเศษในแต่ละอัลบั้มแปะโพสอิทเอาไว้อย่างเรียบร้อย
“เวลาเราได้แผ่นมาใหม่ เราก็จะเอามาลองฟัง แผ่นไหนที่ฟังแล้วชอบ เราก็จะเก็บไว้ พอเราเก็บแค่แผ่นที่เราชอบจริงๆ วันนึงที่เราจะหยิบออกมาฟัง เราไม่ต้องเลือกเลย จะหยิบแผ่นไหนมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแผ่นที่มีราคาก็ได้ แผ่นละ 100-200 ที่ขายไม่ออก คนไม่มองก็ได้ แต่มันก็จะเป็นแผ่นที่เราชอบ เพราะรสนิยมการฟังเพลงของคนเราไม่เหมือนกัน
อย่างพี่เองฟังทุกแนวเลย แต่พี่จะชอบเพลงที่ตัวเองชอบ อย่างของ Miles david ก็จะไม่ได้เก็บทุกชุด เก็บแค่บางชุดที่เราชอบ พวกชุดที่เป็น improvisation เราฟังไม่รู้เรื่องเราก็ไม่เก็บ เก็บแค่เพลงที่เราฟังแล้วรู้สึกชอบ รู้สึกสบายใจ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงต่างประเทศ ฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน มากกว่า เพลงไทยเราเก็บน้อยมาก จะมีเป็นพวก The Impossible เราเคยรู้จักพี่ต้อย เคยคุยกับแกแล้วรู้สึกดีๆ กับแก เราก็ซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึก”
Track06 : Eternal Flame – The Bangles
ถึงแม้ว่าคลองถมจะถูกจัดระเบียบไปแล้วแถมยังมีสถานการณ์โควิดคุกรุ่นจนทำให้ร้านกาแฟถึงสองร้านซึ่งเคยแบ่งพื้นที่เปิดขายอยู่ด้วยกันต้องปิดตัวลง แต่ M TANAKORN Records ก็ยังคงเปิดทำการตั้งแต่ 9โมง – 2 ทุ่ม ในทุกวันๆ โดยนอกจากช่องทางการขายบนโลกออนไลน์อย่าง กลุ่ม Vinyl-longplay กลุ่มบนเฟสบุ๊คที่พี่เอ็มสร้างไว้เพื่อให้คนที่ชื่นชอบแผ่นเสียงในไทยได้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 20,000-30,000 คนแล้ว สิ่งที่ยังคงไม่ห่างหายไปก็คือบรรดาลูกค้าที่แวะเวียนมาทั้งหาซื้อแผ่นเสียงและมานั่งเล่นพูดคุยกับพี่เอ็มที่หน้าร้านตลอดทั้งวัน
เมื่อเราถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ “แผ่นเสียง” ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยแถมยังใช้งานยากยังคงได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่เทปหรือซีดีซึ่งเกิดขึ้นก่อนได้บอกลากระแสความนิยมไปเรียบร้อยแล้ว พี่เอ็มก็ให้คำตอบว่า
“เทปกับซีดีมันเล็กกว่า ถูกกว่า สะดวกกว่า แต่ยิ่งสะดวก ยิ่งทำซ้ำได้ง่ายเนี่ย สุดท้ายมันก็ตายหมด เพราะทุกคนทำเองได้ แค่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านก็สามารถปั๊มเองได้ มันก็เลยไม่มีคุณค่าพอ ในขณะที่แผ่นเสียงซึ่งมันเคยอยู่มาเมื่อสี่สิบปีที่แล้วเนี่ย วันนี้มันก็ยังอยู่ และยังมีคุณค่าอยู่ และสิ่งที่พี่บอกได้เลยก็คือ เสียงที่มันเหมาะกับหูของมนุษย์ที่สุดมันคือเสียงแบบอนาล็อก ก็คือเทปกับแผ่นเสียง วันนี้เทปมันหมดความนิยมไปแล้ว แต่แผ่นเสียงยังอยู่ เพราะมันมีภาพปกที่สามารถนั่งดูได้ มีเสียงที่เหมาะกับการฟัง มีราคาที่สามารถจับต้องได้ มีรายละเอียดให้เราสัมผัส
กับแผ่นเสียงเราต้องใช้เวลากับมันหน่อย แต่เราก็จะได้รู้คุณภาพของแผ่นเสียงจริงๆ ว่าสิ่งที่มันกำลังบอกเราคืออะไร อะไรที่ทำให้มันยังอยู่ได้ในทุกวันนี้ พอฟังแล้วจะรู้เองว่าคืออะไร มันคือความนุ่มนวล มันคือเสียงที่เหมาะกับการฟัง เสียงที่ฟังแล้วมีสมาธิ สบายใจ ทั้งในแง่คุณภาพของเสียงและเวลาที่เราใช้กับมัน มันทำให้ชีวิตของเราช้าลง ทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่ช้าลง”
เมื่อพูดจบ พี่เอ็มก็ชวนให้เราลองเลือกแผ่นเสียงสักแผ่นที่ชอบจากในร้านมาลองเปิดฟัง จะใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องใหญ่ของพี่เอ็มเปิดออกลำโพงเพื่อฟังชัดๆ ก็ได้ หรือจะเปิดเล่นเองด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องเล็กทั้ง 2 เครื่องที่พี่เอ็มเตรียมไว้ให้ลูกค้าลองใช้แล้วดื่มด่ำไปกับเสียงเพลงเงียบๆ คนเดียวก็ได้เหมือนกัน
นั่นสินะ ถ้าอยากเข้าใจว่าเพราะอะไรแผ่นเสียงถึงยังมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ การได้ลองฟังมันด้วยตัวเองนี่แหละคือสิ่งที่จะตอบคำถามของเราได้ที่ดีที่สุดจริงๆ ด้วย 🙂
Contributors
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย