การทำเครื่องหอมเป็นสิ่งที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่โบราณ เห็นได้จากน้ำอบน้ำปรุงที่เราคุ้นเคยและหยิบมาใช้ในเทศกาลสำคัญอย่างวันสงกรานต์ ในยามที่เราเข้าวัดสรงน้ำพระ หรือบางครั้งก็เห็นคุณย่าคุณยายที่บ้านหยิบมาประพรมตัวหอม ๆ พอเป็นพิธี แต่ในความเป็นจริงแล้วบ้านเรามีวัตถุดิบที่ผลิตกลิ่นหอมได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไม้กฤษณา ใบกระวาน มะกรูด ข่า ใบมะม่วง ฯลฯ รวมไปถึงวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่สกัดออกมาเป็นกลิ่นได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผีเสื้อสยาม ‘Butterfly Thai Perfume’ ออกมาโบยบินสู่โลกแห่งเครื่องหอมเป็นครั้งแรก
พี่ชิน–สุชิน แก้วอุดร เจ้าของแบรนด์ เล่าให้เราฟังว่า “เราฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ตั้งแต่เด็กๆ แต่คุณพ่อไม่อยากให้เรียนด้านนี้เลยมาเข้าคณะวิศวกรรมโยธา แต่ระหว่างที่เรียนก็พยายามศึกษาค้นคว้าเรื่องแฟชั่นด้วยตัวเองตลอด เคยส่งงานประกวดออกแบบเสื้อผ้าของต่างประเทศอยู่หลายครั้ง ทั้งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์จนเริ่มอยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง แต่การจะสร้างแบรนด์ขึ้นมาสักแบรนด์หนึ่งจำเป็นต้องมีเงินทุนมาสนับสนุน ก็เลยมาเริ่มทำธุรกิจน้ำหอม”
เริ่มต้นจากสิ่งที่มี
“รู้ไหมว่าที่จริงแล้วน้ำหอมมีต้นกำเนิดที่อียิปต์ ไม่ใช่ฝรั่งเศส” พี่ชินโยนคำถามให้พวกเราขณะนั่งคุยกัน ก่อนเล่าต่อว่า “วัฒนธรรมน้ำหอมถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ จากอียิปต์ ฝรั่งเศส จนกระทั่งเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งการผลิตน้ำหอมของเราเนี่ยค่อนข้างแตกต่างและซับซ้อนจากที่อื่น เพราะเราใช้น้ำผสมน้ำดอกไม้ หรือที่เรียกว่าน้ำอบน้ำปรุงนั่นแหละ มันเลยมีความละเอียดอ่อนแบบไทยๆ ปนอยู่ด้วย ซึ่งมันดีมากเลยนะ แต่คนไทยส่วนใหญ่มองข้ามตรงนี้ไป เราเลยอยากใส่ความเป็นไทยลงไปในขวด เอาวิธีทำน้ำอบน้ำปรุงแบบโบราณผสมผสานกับวิธีการทำน้ำหอมแบบใหม่ สกัดรวมกับสมุนไพรที่มี ออกมาเป็นน้ำหอมที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร”
เมื่อก่อนครอบครัวของพี่ชินเป็นชาวนา ปลูกข้าวขายเป็นหลักแต่ขายข้าวได้เกวียนละไม่กี่หมื่น จึงเริ่มคิดว่านอกจากข้าวแล้วยังสามารถส่งอะไรไปขายได้อีกบ้าง พอลองย้อนกลับมาดูแล้วบ้านเรามีทั้งพืช ดอกไม้ และสมุนไพรที่เอามาทำเป็นเครื่องหอมได้มากมายเต็มไปหมด บางอย่างเองก็ใกล้จะสูญหายไปแล้วด้วย พี่ชินเลยคิดว่าถ้าเอามาสกัดเป็นน้ำหอมแล้วส่งขายเมืองนอกได้ก็คงดี พอได้ไอเดียแล้วจึงเริ่มปรึกษากับเพื่อนที่ทำน้ำหอมก่อน จากนั้นก็เริ่มศึกษาด้วยตัวเองตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของน้ำหอม วิธีการปรุงน้ำหอมแบบต่างๆ ไปจนถึงการออกแบบกลิ่นหอมและมองหาแรงบันดาลใจจนคิดค้นน้ำหอมในแบบของตัวเองได้ในที่สุด
เมื่อความหอมฟุ้งกระจายสู่สาธารณะ
“ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำขาย แค่อยากทำเป็นของขวัญวันเกิดให้เพื่อน ตอนนั้นเราเรียกมันว่า ‘น้ำหอมกลิ่นวันเกิด’ เป็นกลิ่นที่สกัดได้จากไม้จันทน์ พอเอาไปให้ใช้แล้วปรากฏว่าเพื่อนชอบมากจนสั่งเพิ่มอีกทีละหลายขวด ก็เลยลองทำขายดู เริ่มจากไปยืนแจกเทสเตอร์อยู่ที่สวนจตุจักร พอลูกค้าลองดมแล้วเขาก็ชอบ เดินกลับมาถามว่าอันนี้น้ำหอมกลิ่นอะไร มีขายไหม ก็เลยทำน้ำหอมออกมาอีกหลายๆ กลิ่นแล้วใส่ถาดมายืนขาย หลังจากนั้นก็เริ่มทำกลิ่นใหม่ๆ อย่างกลิ่นข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง พอกลิ่นเราแปลกคนก็เริ่มสนใจ พูดกันไปปากต่อปาก คนก็เริ่มรู้จักน้ำหอมของเรามากขึ้น”
ส่วนชื่อแบรนด์ ‘Butterfly Thai Perfume’ พี่ชินบอกกับเราว่ามาจากผีเสื้อที่เป็นสัตว์ที่ชอบดมกลิ่นหอมและรู้จักกลิ่นหอมบนโลกใบนี้ดีที่สุด เที่ยวเสาะแสวงดมกลิ่นไปเรื่อยๆ จนไปพบวัตถุดิบดีๆ มากมาย เหมือนที่แบรนด์นำสิ่งที่มีอยู่แล้วตามจังหวัดต่างๆ ในบ้านเรามาสกัดเป็นน้ำหอม เช่น มะกรูดที่รับมาจากจังหวัดอ่างทอง สิงบุรี ลพบุรี หรือไม้กฤษณาที่รับมาจากภาคเหนือและภาคใต้ โดยพี่ชินยังเน้นอีกว่าสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนและนำวัตถุดิบในบ้านเรามาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ชาวบ้านได้อีกทาง
แรงบันดาลใจคือการเดินทาง
หนึ่งในสิ่งที่พวกเราอยากรู้มากที่สุด คือ น้ำหอมแบบไหนที่พี่ชินจะเลือกใช้ และคาดหวังจะได้ยินชื่อกลิ่นแปลก ๆ ตามสไตล์ที่นักทำน้ำหอมจะสร้างสรรค์ แต่คำตอบของพี่ชินกลับทำให้เราประหลาดใจ
“เราเป็นคนไม่ฉีดน้ำหอม เพราะต้องการเหลือพื้นที่ว่างไว้ซึมซับกลิ่นต่าง ๆ รอบตัว” พี่ชินบอกกับเราก่อนเล่าถึงแรงบันดาลใจและที่มาของน้ำหอมแต่ละกลิ่น “การทำน้ำหอมกลิ่นหนึ่งต้องเริ่มจากดูเทรนด์ช่วงนั้นก่อน เหมือนกับเสื้อผ้าเลย ต่อจากนั้นเราก็มาดูวัตถุดิบที่มี ออกเดินทางไปหากลิ่นใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เราได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่สังเกตได้ระหว่างทาง ทำให้เจอกลิ่นใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา พอได้กลิ่นเราก็จะเอามาตีโจทย์ อย่าง ‘กลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง’ เนี่ยเกิดจากตอนที่เห็นฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทยแล้วเขานั่งกินข้าวเหนียวมะม่วง เลยคิดว่าตัวขนมมันก็มีความเป็นไทยอยู่เหมือนกัน น่าจะเอามาทำเป็นกลิ่นได้ หรือน้ำหอมที่มีต้นแบบมาจากต้มยำ เราก็เอาสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบมาแยกแล้วสกัดเป็นกลิ่น ออกมาเป็นน้ำหอมกลิ่นข่า กลิ่นใบมะกรูด”
“ส่วน ‘กลิ่นโคลนสาบควาย’ เกิดจากการที่เราอยากถ่ายทอดว่ามันคือกลิ่นความเขียวของหญ้าที่โดนควายเล็ม กลิ่นโคลนที่ติดอยู่บนตัวควาย และกลิ่นสดชื่นของน้ำคลองที่ไหลเย็นว่ามันเป็นยังไง เพราะส่วนใหญ่เด็กสมัยนี้นึกถึงกลิ่นโคลนสาบควายไม่ออก ก็เลยอยากสื่อภาพของสิ่งเหล่านี้ออกมาผ่านน้ำหอม”
สิ่งสำคัญคือการส่งต่อเรื่องราว
“เราใส่ใจกับการทำน้ำหอมมาก เพราะคิดมาตั้งแต่แรกว่าจะทำให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวใช้ ดังนั้นเราก็เลยใส่ใจในการเลือกวัตถุดิบหรือกรรมวิธีการปรุงมากเป็นพิเศษ การขายหรือการแจกตัวอย่างทดลองก็เหมือนกัน เราไม่ได้แค่ขายเพื่อเอาเงิน แต่เรามุ่งมั่นที่จะสื่อสารเรื่องราวผ่านกลิ่น ทุกครั้งที่มีลูกค้ามาลองน้ำหอมพี่จะเล่าเรื่องราวของแต่ละกลิ่นให้เขาฟังรวมถึงความตั้งใจของเราที่อยากจะให้เกษตรกรมีรายได้ หรือนำเงินจากการขายไปช่วยเหลือสังคม เขาจะได้รู้ที่มาและภูมิใจที่ได้ใช้แบรนด์ของเรา”
บัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟ็กต์
“ความฝันอย่างหนึ่งของเราคือการทำให้ทุกคนบนโลกเท่าเทียมกัน เรามีรูปวาดอยู่รูปหนึ่ง เป็นรูปยานอวกาศที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน เหมือนกับน้ำหอมของเราที่ออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึงได้กับคนทุกเพศทุกวัย และในอนาคตเราก็หวังว่าเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายน้ำหอมจะสามารถนำไปช่วยพัฒนาประเทศหรือโลกใบนี้ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ เหมือนเป็นการช่วยโลกโดยเริ่มจากน้ำหอมแค่ขวดเดียว”
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้พี่ชินมุ่งมั่นในการทำน้ำหอมต่อไปได้ตั้งแต่สมัยที่ยืนขายน้ำหอมจนถึงปัจจุบัน คำตอบที่เจ้าของแบรนด์น้ำหอมผีเสื้อคนนี้พูดกับเราบ่อยที่สุด คือ ‘ลูกค้าและรอยยิ้มของเขา’
“ทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของลูกค้าที่ใช้น้ำหอม หรือเวลาเขากลับมาซื้อน้ำหอมของเราใหม่ มันเหมือนมีแรงขับเคลื่อนให้เราสามารถทำสิ่งที่เชื่อมั่นอยู่ต่อไปได้ ที่มีวันนี้ได้ก็เพราะลูกค้าทุกคน อยากจะขอบคุณมากจริง ๆ” พี่ชินกล่าวด้วยรอยยิ้มที่อบอุ่น
เส้นทางต่อไปของผีเสื้อ
“พี่อยากให้ทุกคนในโลกรู้จักและได้ใช้น้ำหอมของเรา อยากให้คนไทยภูมิใจ มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ อยากให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการปลูกข้าวขายส่งไปเมืองนอก และในอนาคตประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแหล่งผลิต essential oil ส่งขายทั่วโลกเลยก็ได้”
จากความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมแบบไทย ๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ชินส่งต่อความเป็นไทยผ่านกลิ่นหอม ‘Butterfly Thai Perfume’ จึงเปรียบเสมือนน้ำหอมแห่งความสุขที่บอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนวิถีชีวิตของบ้านเราได้เป็นอย่างดี บ่ายวันนั้น นอกจากความรู้เรื่องน้ำหอมแล้ว สิ่งที่พวกเราได้รับจากพี่ชินตลอดการสนทนาคือทัศนคติที่ดี พลังใจด้านบวก และความต้องการอันแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือสังคม ราวกับน้ำหอมที่ฟุ้งกระจายและลอยมาติดตามตัวพวกเราคนละเล็กคนละน้อย แล้วการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็จบลงอย่างอบอุ่นคละเคล้าไปด้วยกลิ่นหอมของความประทับใจอันแสนหวาน