close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: เดินห้าง ดูเมือง

Trawell
Contact search
Go Well 3.3k

"เดินห้าง ดูเมือง"
เมื่อการเดินห้างของผู้คน
ทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมือง

6 January 2021 เรื่อง แทนไท นามเสน ภาพ แทนไท นามเสน

“วันหยุดนี้ไปเดินห้างกัน”
“วันนี้เดี๋ยวนัดเจอกันที่ห้างนะ”

ประโยคที่ทุกคนต้องเคยพูดกันจนติดปาก ถึง “ห้างสรรพสินค้า” สถานที่พักผ่อนยอดนิยมของคนเมืองในช่วงหลังเลิกงานหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมความบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองได้อย่างครบครัน แต่ใครจะรู้ว่าการกิจกรรมพักผ่อนอันดับต้นๆ ของคนเมืองแห่งนี้ ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ Trawell จะมาชวนคิด ชวนสังเกต ที่จะทำให้ทุกการเดินห้าง ทำให้เรามองเห็นเมืองมากกว่าที่เคย

หลายๆ คนอาจจะมีความทรงจำกับร้านค้าเจ้าประจำในสมัยวัยเยาว์ เช่นร้านอาม่าใกล้บ้านที่เราเคยซื้อน้ำเก๊กฮวยทุกเช้า หรือร้านเครื่องเขียนคุณป้าหน้าโรงเรียนที่เราซื้อประจำทุกเปิดเทอม

ร้านค้าเหล่านี้เอง คือส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของ “ห้าง” ในแบบที่เราคุ้นเคยเช่นทุกวันนี้

“ห้างสรรพสินค้า” หรือที่ทุกคนเรียกกันสั้นๆ ว่า “ห้าง” คืออาคารซึ่งรวบรวมร้านค้าปลีกน้อยใหญ่และแหล่งความบันเทิงมากมายเข้ามาไว้ใต้หลังคาเดียวกัน โดยในยุคเริ่มแรก ห้างต่างๆ เกิดขึ้นจากร้านค้าปลีกหรือร้านขายของชำที่เราคุ้นเคยกัน ก่อนจะมีการขยายกิจการใหญ่โตขึ้น โดยบางแห่งห้างเป็นผู้ผลิตและนำสินค้าต่างๆ เข้ามาจำหน่ายเอง ในขณะที่บางแห่งเป็นในลักษณะของการเช่าพื้นที่ให้ร้านค้าอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่ขายสินค้าของตนเอง เป็นต้น

สำหรับห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของประเทศไทย คือห้างไนติงเกล หรือชื่อเต็มว่า ไนติงเกล-โอลิมปิก ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ โดยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2473 โดยนายนัติ นิยมวานิช ก่อนจะขยับขยายกิจการในชื่อ ไนติงเกล-โอลิมปิก ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2509 ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณแยกพาหุรัด ตรงข้ามห้างดิโอลด์สยาม แขวงบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร

ซึ่งกว่าห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งในประเทศไทยจะเต็มไปด้วยสาขาและความอลังการเช่นทุกวันนี้ กิจการของพวกเขาเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของย่านค้าขายหรือพื้นที่เศรษฐกิจของเมือง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ย่านพาณชิยกรรม ซึ่งประกอบไปด้วยห้างร้านค้าปลีกจำนวนมากอยู่รวมกันในพื้นที่เดียว ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางไปซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการได้อย่างสะดวก เช่น ย่านพาหุรัดสำหรับซื้อขายผ้า บางลำพูสำหรับชุดนักเรียน คลองถมสำหรับของจิปาถะ บ้านหม้อสำหรับย่านอุปกรณ์เสียงและไฟฟ้า เป็นต้น ก่อนที่แนวความคิดควบรวมการค้าปลีกหลายๆ ร้านเข้าด้วยกันภายใต้หลังคาเดียว จนกลายมาเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างที่รู้จักกันเช่นทุกวันนี้จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

หนึ่งในระบบว่าด้วยความสะดวกสบายที่โดดเด่นและทำให้ห้างสรรพสินค้าครองใจผู้คนมาได้อย่างยาวนาน คือ ระบบการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “One Stop Service” ซึ่งห้างสรรพสินค้าได้รวมเอาร้านค้าปลีกต่างๆ เอาไว้ในแห่งเดียวกัน ทำให้ช่วยในเรื่องการประหยัดเวลาสำหรับกิจกรรม และทำให้คนเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีเวลาพักผ่อนแค่ช่วงเสาร์อาทิตย์ ได้มีเวลาไปกับกิจกรรมอย่างอื่นอย่างเต็มที่

ผลของระบบนี้ทำให้ห้างสรรพสินค้าค่อยๆ ลดความสำคัญขอพาณิชยกรรมที่เคยตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของเมืองอย่างรวดเร็ว ในเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าเหล่านั้นได้จากการเข้าห้างเพียงครั้งเดียว การมีอยู่ของย่านค้าขายเก่าแก่เหล่านี้จึงเริ่มไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

แต่การเข้ามาของระบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ไม่เพียงแค่เป็นการดึงคนจำนวนมากเข้ามายังห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปสู่การเกิดพื้นที่สำหรับการให้บริการเพื่อความบันเทิงหรือพักผ่อนหย่อนใจขึ้น เช่น ศูนย์ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งร้านค้าแบบบริการตนเอง (Supermarket) ที่พัฒนามาจากระบบร้านขายของชำ ก็ล้วนแต่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างส่วนขยายให้ห้างสรรพสินค้ามีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น

นับแต่นั้นมา การเดินห้างของคนเมืองจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการไปซื้อสินค้า แต่ยังเป็นการสร้างรูปแบบในการดำเนินวิถีชิวิตของคนเมืองไปโดยปริยาย

ห้างสรรพสินค้าจำนวนมากจึงเริ่มมีการปรับตัว จากที่เคยเป็นเพียงแหล่งรวมร้านค้าหลายชนิด เน้นหน้าที่การใช้งานในลักษณะของตลาดสินค้าเพียงอย่างเดียว จึงได้นำความคิดทางด้านสถาปัตยกรรมในเรื่องของความสวยงามและหน้าที่การใช้งานด้านอื่นๆ เข้ามา ซึ่งล้วนนำมาสู่การดึงดูดใจของผู้คนต่อการใ้ช้เวลาในห้างสรรพสินค้าแต่ละวันมากยิ่งขึ้น และตัวอาคารของห้างสรรพสินค้าเองยังเปรียบเสมือนหน้าตาของความเจริญด้านการค้าของเมืองด้วยเช่นกัน สอดรับการกับเจริญเติบโตของเมืองที่นับวันจะยิ่งเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ ห้างสรรพสินค้าจึงเปรียบเสมือนแหล่งบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจหลักของคนเมือง กับเวลาเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดยาวที่พวกเขาพอจะหลงเหลืออยู่ คนเมืองจำนวนมากจึงใช้เวลาไปกับการพักผ่อนในห้างที่มีแหล่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ซึ่งเพียงพอและตอบโจทย์ความคุ้มค่าของเวลาที่พวกเขามีให้มากที่สุด

แต่ถ้าเกิดไม่มีห้างล่ะ ? จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

วิกฤติการณ์ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศต้องประกาศปิดตัวกว่า 6 สัปดาห์ ส่งผลให้พฤติกรรมการพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองเกิดความชะงักงันไม่น้อย เนื่องจากผู้คนจำนวนมากต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน หลักเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ห้างสรรพสินค้าจะเป็นสถานที่ๆ แรกที่ต้องประกาศยุติการให้บริการชั่วคราว

กระทั่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลตัดสินใจอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง คนเมืองจำนวนมากต่างเบียดเสียดกลับไปใช้ช่วงเวลาพักผ่อนของตนเองในสถานที่ๆ พวกเขาคุ้นเคยอีกครั้ง แม้ว่าจะมีมาตรการมากมายที่พวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่อาจจะไม่สะดวกเหมือนเก่าก็ตาม

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า วิถีการพักผ่อนของคนเมืองนั้นแนบแน่นกับห้างสรรพสินค้าจนแยกออกจากกันยาก พวกเขาพร้อมที่จะใช้เงินและเวลาที่ตนเองมีอย่างเต็มที่ไปกับการจับจ่ายใช้สอยความสะดวกสบายที่มีไปกับห้างสรรพสินค้าที่พวกเขาชื่นชอบ จนอาจทำให้มองไม่เห็นว่า เรามีทางเลือกอื่นๆ ในการพักผ่อนหย่อนใจของตนเองผ่านการใช้พื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ภายในเมืองได้หรือไม่?

ทว่าพื้นที่ดังกล่าวในเมืองของเราก็กลับมีน้อยอย่างน่าใจหาย ไม่อาจรองรับความต้องการของคนได้อย่างครบถ้วน ทั้งยังสูญเสียความหลากหลายของตัวพื้นที่เอง ซึ่งทำให้เราจึงไม่มีสถานที่แบบห้องสมุด หอศิลป์ สวนสาธารณะ ลานกีฬา พิพิธภัณฑ์ ที่หลากหลายเพียงพอต่อความต้องการของคนเมืองอย่างจริงจัง และรัฐเองก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจโอกาสในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองผ่านพื้นที่เหล่านี้ได้ดีนัก

ห้างสรรพสินค้าจึงกลายเป็นเหมือนทางเลือกเดียวของคนเมืองจะสามารถใช้เวลาพักผ่อนอันน้อยนิดของพวกเขาอย่างคุ้มค่าให้เกิดความสุขแก่ตนเองได้ไปโดยปริยาย โดยปราศจากโอกาสในการเลือก “การพักผ่อน” ที่หลากหลายให้กับตนเองอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้าอาจไม่ใช่ผู้ร้ายของพฤติกรรมคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกวันนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองได้ แต่การเดินห้างของคนเมือง ที่สะท้อนถึงการสูญเสียความหลากหลายของการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ซึ่งอาจนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ต่างหาก อาจเป็นประเด็นที่เราควรตั้งคำถามกับเมืองที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

Contributors

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Writer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read