close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ชุมพร ตอนที่มีเรา (ภู)เขา และทะเล

Trawell
Contact search
Go Well 2.9k

ชุมพร
ตอนที่มีเรา (ภู)เขา และทะเล

22 April 2021 เรื่อง สโรชา เอิบโชคชัย ภาพ ชนิภา เต็มพร้อม

“ชุมพรไม่ใช่แค่เมืองทางผ่าน แต่เป็นเมืองที่รายล้อมด้วยทะเล รายรอบด้วยภูเขา และเราอยากชวนให้คุณมารู้จัก”

วันหยุดที่ผ่านมาสถานการณ์รอบตัวเราอาจกลับมาวิกฤตอีกครั้งจนทำให้หลายคนต้องพับแผนเที่ยวแล้วพักอยู่บ้านซะก่อน ส่วนวันหยุดครั้งหน้าถ้ายังเลือกไม่ได้ว่าจะไปเที่ยวทะเลหรือภูเขาดี เราขอชวนให้คุณมาเที่ยวที่นี่ ‘ชุมพร’ เมืองที่ใครหลายคนอาจมองว่าเป็นแค่ทางผ่านลงสู่ภาคใต้ แต่พอได้มาจริงๆ กลับเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่แตกต่างจากจังหวัดไหนๆ เพราะมีทั้งทะเลสวยๆ อยู่เบื้องหน้าและภูเขาอุดมสมบูรณ์อยู่เบื้องหลัง จะไปดำน้ำดูปลาชมปะการัง จิบกาแฟสดๆ จากไร่ นั่งชมบรรยากาศพระอาทิตย์ตกดิน กินอาหารทะเลสดๆ จากปากอ่าว แล้วก้าวเท้าเดินชมวิถีชีวิตแบบชาวใต้ในสวนผลไม้กลางป่าก็ยังได้

เมื่อขับรถจนสุดเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าเราได้เดินทางมาถึงภาคใต้กันแล้ว เพราะเรากำลังแล่นอยู่บนพื้นที่ของจังหวัดชุมพร เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องรังนก พอๆ กับไร่กาแฟโรบัสต้า สวนกล้วยเล็บมือนางและผลไม้นานาชนิด ตลอดพื้นที่ของจังหวัดตั้งขนานกับอ่าวไทย ทำให้คนที่นี่มักประกอบอาชีพให้เหมาะกับภูมิประเทศของจังหวัดด้วยการทำประมง เกษตรกรรม และการค้าขาย

พื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของชุมพรนั้นทอดยาวลงไปตามแนวด้ามขวาน รายล้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติหลายรูปแบบทั้งทะเล ชายหาด หมู่เกาะ อ่าว ภูเขา น้ำตก ป่าชายเลนและป่าไม้อื่นๆ  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าทุกอย่างสามารถหาได้ง่ายดายที่ชุมพร เพราะที่นี่มีทรัพยากรครบครันทุกอย่าง สมกับเป็นหนึ่งในดินแดนประมงและดงเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของไทย เนี่ย ชุมพรมีครบขนาดนี้แล้วยังจะผ่านไปที่ไหนอีก!

“ชุมพรตอนนี้ยังมีแค่ เรา (ภู)เขา และทะเล แต่มันคงจะดีนะถ้าในอนาคตจะมี ‘เธอ’ มาอยู่ด้วยกัน
ตามมารู้จักกับชุมพรในวันนี้ที่ไม่ได้เป็นแค่เมืองทางผ่านระหว่างรอวันที่เราจะได้กลับมาพบกันได้ที่นี่เลย :)”

เดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร

บรรยากาศของอุทยานถูกปกคลุมไปด้วยป่าชายเลนอย่างหนาแน่น โดยมีสะพานไม้ทอดยาวให้เราเดินชมระบบนิเวศผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และมีสื่อการเรียนรู้ให้ข้อมูลอยู่ตลอดเส้นทาง

แล้วยังเป็นท่าเรือสำคัญอีกจุดที่ใช้เดินทางไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในอ่าวไทยกว่า 40 เกาะ ซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก และจุดชมความสวยงามรอบเกาะต่างๆ อย่างเช่น จุดชมดอกไม้ทะเลสีขาว ปะการังใบไม้ที่เกาะละวะ ดำน้ำในแหล่งชุมนุมปลาใหญ่ลอดใต้เกาะทะลุ และชมแหล่งสัมปทานรังนกที่เกาะรังกาจิว

ชมพระอาทิตย์ตกน้ำที่ปากคลองอีเล็ต

เมื่อไปถึงชุมชนบ้านอีเล็ต ชาวบ้านจะเข้ามาต้อนรับและพาพวกเรานั่งเรือประมงพื้นบ้าน ไปล่องชมบรรยากาศป่าชายเลนตลอดสองฝั่งคลองอีเล็ต จนเรือจอดเทียบบริเวณหาดอีก๋อยใกล้ปากคลองเพื่อชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าและตกน้ำไปในที่สุด บรรยากาศนั้นอาจทำให้เรารู้สึกโล่งเหมือนวันนี้ได้จบลงแล้ว พร้อมเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในวันถัดไป นอกจากนี้ชาวบ้านยังชวนให้เราใช้คราดขุดหาหอยบนหาด และมีกิจกรรมยืนพายบอร์ดบนน้ำหรือ Stand up paddle board ซึ่งเป็นที่นิยมช่วงนี้ให้ลองเล่นอีกด้วย

ธนาคารปูบ้านอีเล็ต

เมื่อความสมดุลทางธรรมชาติไม่เหมือนเดิม และชาวบ้านรับรู้ได้จากปริมาณของปูที่มีจำนวนลดน้อยลงทุกวัน จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มชาวประมงชุมชนบ้านอีเล็ต เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขา ด้วยการสร้างธนาคารปูเพื่อเพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์และอนุรักษ์ปูให้มากขึ้น ก่อนนำปูที่โตเต็มวัยกลับไปปล่อยสู่ท้องทะเลเพื่อคืนความสมดุลในระบบนิเวศอีกครั้ง

ผ้าบาติกลายชุมพร

ถูกวาดออกมาเป็นรูปเรือรบหลวงชุมพรและสัตว์ทะเลนานาชนิด เสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัด

ประตูมหาสมุทร บ้านบ่อคา

ประตูมหาสมุทร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า บ่วงแร้ว เพราะลักษณะเหมือนบ่วงดักจับสัตว์ ถือเป็นประตูหินธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งในชุมชน 

ชุมชนบ้านบ่อคา

บ้านบ่อคาเป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ในอำเภอสวี คนที่นี่สร้างบ้านด้วยไม้เคี่ยมหรือไม้เศรษฐกิจของภาคใต้ ทำอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก และมีตำนานความเชื่อเกี่ยวกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน 

แต่เดิมเคยชื่อ บ่อคัน เพราะน้ำในบ่อนี้มีพิษทำให้เกิดอาการคันหากโดนผิวหนัง และข้างบ่อนั้นมีลายแทงที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การค้นพบสมบัติที่มีค่า

เมื่อเรื่องนั้นโด่งดังไปถึงกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น ราชธานีจึงส่งคนมาทำพิธีบวงสรวงบริเวณบ่อน้ำ เมื่อทำพิธีเสร็จจึงให้เด็กมาชะโงกดูบ่อน้ำแล้วฟันคอเด็กจนขาดลงไปในบ่อคัน ทันใดนั้นน้ำก็แห้งหายไปจนมองเห็นทองคำมากมาย และเป็นที่มาของชื่อบ้านบั่นคออยู่ช่วงหนึ่ง แต่ชื่อนี้ค่อนข้างน่ากลัวทำให้เกิดการเปลี่ยนชื่อจนกลายเป็นบ้านบ่อคาจนถึงปัจจุบัน

ฟาร์มอินทร์แปลง

ฟาร์มโคนม แบบ Zero Waste Farms แห่งแรกๆ ของในประเทศไทย ที่แปลงสิ่งปฏิกูลต่างๆ ในฟาร์มอย่างขี้วัว ให้กลายเป็นพลังงานสะอาดนำกลับมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มเพื่อหมุนเวียนใช้ใหม่ภายใต้ฟาร์มต่อไป โดยนอกจากคุณเบสท์เจ้าของฟาร์มจะวางแผนตั้งแต่อาหารที่วัวต้องกินในแต่ละวัน เพื่อให้นมวัวที่ได้ออกมามีคุณภาพที่ดีที่สุดแล้ว ที่นี่ยังรีดนมสดจากเต้าทุกวันและนำนมทุกหยดมาแปรรูปด้วยตนเอง รวมถึงเปิดฟาร์มเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมให้กับบุคคลที่สนใจอีกด้วย

น้ำตาลมะพร้าว บ้านทุ่งคา

ในชุมชนบ้านทุ่งคามีที่ดินที่สามารถทำสวนผลไม้ได้ ชาวบ้านบางส่วนก็ปลูกมะพร้าวแล้วนำส่วนต่างๆ จากต้นมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการทำน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊บจากน้ำหวานของงวงเกสรมะพร้าว ที่ถูกนำมาต้มบนเตาฟืนให้เหลือเพียงน้ำหวานเท่านั้น แล้วค่อยเคี่ยวจนได้ออกมาเป็นน้ำตาลเป็นก้อนๆ ในภายหลัง

อาชีพนี้ถือเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ทำมาแบบรุ่นสู่รุ่น เรามีโอกาสได้ไปเจอคุณยายลัดดาและคุณยายอุไร ซึ่งเป็นพี่น้องนักปีนต้นมะพร้าวเพื่อเก็บน้ำหวานจากงวงเกสรตั้งแต่สาวๆ จนถึงปัจจุบัน แม้ตอนนี้จะเหลือแค่ยายอุไรน้องสาวเป็นคนปีนเก็บน้ำหวานคนเดียวเท่านั้น แต่ทั้งคู่และครอบครัวก็ยังคงประกอบอาชีพนี้เหมือนเดิม

กาแฟโรบัสต้า

กาแฟอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มักปลูกทางภาคใต้ของประเทศไทย แหล่งทำปลูกโรบัสต้ามีมากที่สุดในชุมพร ทำให้เราสามารถค้นหาไร่กาแฟได้ง่ายจากหลากหลายอำเภอของที่นี่ โดยเฉพาะตามพื้นที่หุบเขาต่างๆ

สวนตาจี๊ด

พื้นที่สวนรอบบ้านของตาจี๊ด เป็นอีกหนึ่งจุดที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศสีเขียวให้แก่ชุมพร มีทั้งต้นมะพร้าว พริก กะเพรา ใบเหลียงและพืชอีกหลายชนิด แล้วยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกด้วย เพราะพืชต่างๆ ถูกนำมาประกอบอาหารในสวนอาหารของตาจี๊ด

นอกจากนี้ตาจี๊ดยังสร้างพื้นที่รอบบ้านให้เป็นพื้นที่สาธารณะอีกด้วย อย่างพิพิธภัณฑ์ของเก่าที่รับซื้อของที่คนในชุมชนไม่ใช้แล้วมารักษาไว้, พิพิธภัณฑ์แสตมป์ที่สะสมสมัยทำงานสำนักงานไปรษณีย์ และโรงหนังในบ้านสำหรับเด็กๆ ที่ผ่านไปมา

ตลาดสด

เป็นสถานที่ที่มีจำนวนมากในทุกอำเภอ ตลาดแต่ละแห่งจะขายอาหารสดหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ได้มาจากแหล่งประมงและผักผลไม้จากสวนต่างๆ ทั่วจังหวัด

การเดินทางในชุมพร ส่วนมากคนที่นี่มักใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือนิยมใช้รถสองแถวเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีทั้งเส้นทางที่วิ่งเฉพาะในตัวเมืองและระหว่างอำเภอใกล้เคียง

วันหยุดหน้าคงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มาเจอกันที่ชุมพร แล้วค่อยๆ หลีกหนีชีวิตที่จำเจในแต่ละวัน ออกไปเที่ยวดูภูเขาคู่ทะเลพร้อมกับเราดีไหม 🙂

Contributors

contributor's photo

สโรชา เอิบโชคชัย

Writer

นัก(อยาก)เขียนที่ชอบท่องโลกกว้างผ่านความจริงและตัวหนังสือ

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read