close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: How to take care people who can’t work from home

Trawell
Contact search
Live Well 1.4k

รวม 10 วิธีดูแลกัน
ในวันที่ไม่ใช่ทุกคน
จะได้ Work from Home

7 January 2021 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

ในวันที่เมืองเริ่มจะหมดความเคลื่อนไหว นอกจากความไม่สะดวกสบายและเบื่อหน่ายของใครหลายคนที่จำเป็นต้องย้ายพื้นที่ทำงานจากออฟฟิศมาเป็นบ้านที่พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้าง ยังมีเพื่อนๆ อีกหลายอาชีพที่ไม่สามารถแม้แต่จะมานั่งเบื่อ Work from Wome ได้อย่างเราๆ

 

ดังนั้นนอกจากการ Stay Home เพื่อพวกเขาแล้ว Trawell ยังอยากชวนให้ทุกคนลองทำสิ่งเล็กๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง เพื่อช่วยให้เพื่อนๆ ของเราปลอดภัยและสามารถทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไปได้อย่างง่ายดายขึ้นอีกนิดไปด้วยกัน

01 คนเก็บขยะ

เราไม่รู้ว่า “กูติดยังวะ?” มากเท่าไหร่ เราก็ไม่รู้มากพอๆ กัน ว่าในขยะที่ทิ้งลงถังไปจะปนเปื้อนหรือเป็นพาหะของอะไรบ้าง

อาชีพเก็บขยะ เป็นหนึ่งในอาชีพที่อันตรายที่สุดในช่วงเวลานี้ เพราะนอกจากจะไม่สามารถอยู่บ้านสบายๆ ได้แล้ว ขยะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ยังเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายตามการจัดสั่งอาหารแบบ Delivery ที่กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมหน้ากากอนามัยซึ่งถือเป็นขยะติดเชื้อก็ถูกทิ้งปะปนกับขยะในบ้านอยู่ทุกวัน

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. แยกขยะแห้งและขยะเปียกออกจากกัน เพื่อให้งานของพี่ๆ คนเก็บขยะง่ายขึ้น ลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น
  2. แยกขยะอันตรายและขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไปอย่างเคร่งครัด
  3. ม้วนหน้ากากโดยหันด้านที่สัมผัสกับอากาศเก็บไว้ข้างใน มัดหนังยาง แล้วทิ้งรวมกันในถุงพลาสติกใส เพื่อให้พี่ๆ มองเห็นและระวังตัวได้ทันที
02 หมอ/พยาบาล

เสียงปรบมืออาจคือกำลังใจก็จริง แต่กำลังใจที่ดีที่สุดของผู้คนที่ออกไปเสี่ยงชีวิตอยู่หน้างานก็คือความเข้าใจในสถานการณ์ที่พวกเรากำลังเผชิญ และใช้ชีวิตโดยคำนึงอยู่เสมอว่าเราจะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานของใครยากขึ้น

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. อยู่บ้านและงดการรวมตัวไปสังสรรค์ ตั้งใจ Keep Social Distancing อย่างเคร่งครัดเถิดจะเกิดผล
  2. ไปโรงพยาบาลเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยหากมีนัดรับยาหรือตรวจประจำเดือนแต่อาการโดยรวมยังปกติดี หลายๆ โรงพยาบาลขอความร่วมมือให้เดินทางมารับยาไปทานแต่งดตรวจ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการสัมผัส ลดการทำงานที่ไม่เร่งด่วนของคุณหมอ และยังลดความเสี่ยงจากการเดินทางไปติดเชื้อที่โรงพยาบาลกลับบ้านมาอีกด้วย
  3. หากมีเพื่อนหรือครอบครัวเข้าแอดมิทที่โรงพยาบาล การเก็บความคิดถึงไว้ในใจแล้วเลือกเยี่ยมไข้ออนไลน์แทนก็ช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคได้เช่นกัน
  4. เราเข้าใจว่าทุกคนต้องการความมั่นใจ แต่อยากชวนตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจก่อนออกเดินทางไปตรวจ Covid-19 เพื่อลดการเดินทางไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดภาระของคุณหมอ และลดการใช้น้ำยาตรวจซึ่งมีอยู่จำกัดไปอย่างสิ้นเปลืองโดยสามารถทำแบบทดสอบได้ที่นี่เลย http://covid19.rajavithi.go.th/th_index.php
  5. สำหรับคนที่อาการใกล้เคียงและมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสถานที่ที่เคยพบผู้ติดเชื้อ ห้าม! ปิดบังข้อมูลและอาการของตัวเองจากหมอเด็ดขาด
03 Delivery man

การเดินทางไปไหนมาไหนเพื่อรับส่งอาหารให้กับพวกเราตลอดทั้งวันย่อมเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายสุดๆ ในช่วงเวลาที่ใครๆ ก็อยากกักตัวอยู่ในบ้านแบบนี้ แต่จะเลิกก็ไม่ได้ เพราะพวกเราจะตายกันหมด!

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. ลดการสัมผัสให้น้อยที่สุดด้วยการติดที่แขวนสินค้าหรือที่วางพัสดุไว้หน้าบ้าน
  2. ห้อยเจลล้างมือไว้ที่ประตูรั้ว เพื่อให้พี่ๆ Delivery man สามารถล้างมือได้ทันทีที่สัมผัสกับเรา
  3. จ่ายเงินผ่านระบบธุรกรรมออนไลน์เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้เหรียญหรือแบงค์
04 ผู้ประกอบการรายย่อย

จะผู้ประกอบการร้านค้าท้องถิ่นที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบออนไลน์ก็ดี หรือผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ที่พยามปรับตัวเข้าสู่ระบบ Delivery ก็ดี พวกเขาคือผู้ที่เดือนร้อนเป็นอันดับต้นๆ ในสถานการณ์นี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะช่องทางหน้าร้านที่เคยเปิดให้ผู้คนได้มาจับจ่ายถูกปิดยาวไปถึงสิ้นเดือนเมษา

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. อุดหนุน! ด้วยการเดินไป #กินใกล้บ้าน เพื่อสนับสนุนคุณป้าคุณลุงบ้านใกล้เรือนเคียง และสั่งอาหารแบบ Delivery จากร้านของผู้ประกอบการรายย่อย
  2. จ่ายเงินผ่านระบบธุรกรรมออนไลน์เสมอและหลีกเลี่ยงการใช้เหรียญหรือแบงค์ เมื่อเดินทางไปซื้อแบบ Take away
05 พนักงานรักษาความสะอาด

อีกหนึ่งอาชีพที่ยังคงต้องทำงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือพี่ๆ พนักงานรักษาความสะอาด เช่น พี่ๆ แม่บ้านในห้างสรรพสินค้า ระบบขนส่งสาธารณะ หรือสถานที่ปิดต่างๆ ที่นอกจากจะไม่ได้หยุดพักแล้ว ยังอาจจะต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าจากการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น การเพิ่มจำนวนความถี่ในการทำความสะอาด, การพ่นน้ำยาแอลกอฮอล์ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง, การเช็ดทำความสะอาดลิฟท์เป็นประจำ เป็นต้น

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน พยายามจับต้องพื้นผิวต่างๆ รอบตัวให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ผนัง ราวบันได ลูกบิดประตู เสา และทุกๆ สิ่งรอบตัว นอกจากจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากพื้นผิวเหล่านั้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่เราจะนำเชื้อไปติดผู้ที่ต้องทำความสะอาดพื้นที่นั้นเป็นประจำอีกด้วย
  2. เข้าห้องน้ำสาธารณะให้น้อยที่สุด ถ้ายังพอทนไหว เดินทางกลับไปถึงบ้านหรือพื้นที่ปิดแล้วค่อยจัดการธุระส่วนตัวจะดีที่สุด แต่ถ้าทนไม่ได้ก็ควรรักษาความสะอาดอย่างใกล้ชิดและคิดถึงผู้อื่นที่ต้องใช้พื้นที่ต่อจากเราเสมอ
06 พนักงานธนาคาร

ธนาคารยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งยังเปิดทำการอยู่ในเวลาปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการปิดบริการชั่วคราวไปในวันที่ 28-29 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในช่วงเวลาที่มีการเปิดให้ผู้คนลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากรัฐ แต่การปิดทำการไปเป็นเวลาสองวันนั้นก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่ายังมีวิธีการอีกมากมายที่ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. ทำธุรกรรมการโอนเงิน จ่ายเงิน ซื้อประกัน หรือชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากที่สุด
  2. ขึ้นเช็ค, ฝากเงิน, ปรับหน้าสมุดบัญชีกับเครื่องแทนการดำเนินการกับพนักงาน เพื่อลดการสัมผัสและความเสี่ยงในการติดต่อของโรค
  3. หากหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดไม่ได้ ต้องทำความสะอาดเงินก่อนส่งมอบให้พนักงานเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการนำเหรียญไปแช่ในน้ำยาทำความสะอาด หรือการฉีดพ่นแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อก็ดี
07 พระภิกษุ

อีกหนึ่งคนที่จำเป็นต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่ปิด ก็คือพระภิกษุและสามเณรที่ไม่สามารถเดินทางออกไปรับบิณฑบาตได้ นอกจากนี้ญาติโยมเองก็ไม่สามารถเดินทางมาทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้เช่นกันจนอาจทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกขาดที่พึ่งทางจิตใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปพร้อมกัน

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. ถวายอาหารผ่านการเรียก Delivery เข้าไปที่วัด โดยคำนึงถึงช่วงเวลาพระสงฆ์ยังสามารถฉันเพลได้
  2. เน้นถวายของแห้งเป็นหลักเพื่อให้ไม่กลายเป็นการสร้างความลำบากและขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารสดที่เก็บรักษายาก
  3. ฟังเทศน์และร่วมพิธีกรรมทางศาสนาผ่านช่องทางออนไลน์ หรือนั่งสมาธิและสวดมนต์ภายในที่พักอาศัย และระลึกเอาไว้ในใจว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่แก่นแท้ของศาสนา หากแต่เป็นการรู้ตัวและเข้าใจอยู่ว่าตัวเรากำลังทำอะไรอยู่ และการไม่สร้างความเดือดร้อนกับให้ผู้อื่นต่างหาก
08 ศิลปิน

ในช่วงเวลาที่งานรื่นเริงและอีเว้นท์ต่างๆ ไม่สามารถจัดขึ้นได้ ศิลปิน นักร้อง และนักดนตรี เป็นหนึ่งในอาชีพที่ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเคย และถึงแม้ว่าศิลปินหลายคนจะหันมาสื่อสารกับแฟนคลับและเล่นดนตรีผ่านการ Live สดทางช่องทางออนไลน์ แต่รายได้หลักของพวกเขาก็ยังหายไปอยู่ดี

เราทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง?

  1. เลือกฟังเพลงผ่านระบบ Streaming ที่ถูกกฎหมาย และมีการปันผลให้กับศิลปินเจ้าของลิขสิทธิ์ตามยอดการเข้าฟัง เช่น Youtube, Spotify, Apple music
  2. ซื้อเพลงออนไลน์ผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย เช่น Itune store
  3. ซื้อซีดี แผ่นเสียง หรือเทป โดยตรงผ่านช่องทางของศิลปินเอง
09 ธุรกิจเพื่อสังคม

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจในรูปแบบใด ทุกคนย่อมเป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติสุขเหมือนที่เคยทำมา พวกเราเองในฐานะกลุ่มคนอยากพัฒนาเมืองอย่าง Trawell, Mayday, Attention studio และ STRN citizen lab ก็เช่นกัน เมื่อรายได้และงาน Project ซึ่งที่ไม่ได้มีจำนวนมากมายเท่าใครๆ ลดน้อยลงอย่างน่าหายใจ สิ่งเดียวที่พวกเราทำได้ก็คือการพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ไม่ต่างจากทุกคน

คุณทำอะไรให้พวกเราได้บ้าง?

  1. ติดตามและอุดหนุนหนึ่งในธุรกิจใหม่ของพวกเราอย่าง Rise Cafe บริการส่งอาหารแบบ Delivery ที่พยายามจะเชื่อมโยงวัตถุดิบจากเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงคนเมืองมากที่สุด แต่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด ได้ทางเพจ Rise Cafe และ Line : @risecafe
  2. ติดตามและส่งต่อเรื่องราวของ home for those in need หรือการเปลี่ยนแปลง Luk hostel ให้กลายเป็นที่หลบภัยชั่วคราวของทั้งชาวไทยที่ไม่สามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่ควบคุมไม่ได้ และชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทย ในราคาย่อมเยาคือ 299 บาทต่อคืน รวมอาหาร 3 มื้อ ได้ทางเพจ Luk hostel
10 นายก-ล้ามตี

นายก-ล้ามตีเป็นตำแหน่งสูงสุดและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบอยหารและสั่งกานภายใต้พรก.ฉุกเฉิน ดังนั้นหนึ่งในผู้ที่ไม่สามารถหยุดงานอยู่บ้านได้ในถากานแบบนี้ และต้องแบกความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงของปาชนจีงไม่ใช่ใครนอกจากนายก-ล้ามตี

เราทำอะไรให้นายก-ล้ามตีได้บ้าง?

  1. ติดตามร้าบฟังข่าวสารและม้าการของร้าบานและสานะสุกเป็นประจำ
  2. ป่ายบัดตามข้อมหนดของร้าบานอย่างเคร่งครัด ไม่ตื่นตกไปเกินกว่าเหตุ
  3. ตรวจสอบกามงานของร้าบานและนายก-ล้ามตีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ม้าการต่างๆ ของร้าบานเป็นไปเพื่อปาโหยดของปาชนในอย่างสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นไปเพื่อปาโหยดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

Next read