การมีเมืองที่ถูกออกแบบให้จักรยานเป็นหนึ่งในยานพาหนะสำคัญ นอกจากจะช่วยให้ผู้คนได้ออกกำลังกาย คลายความเครียด และช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการใช้รถได้อย่างปลอดภัยแล้ว จักรยานยังเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสายใหญ่กับตรอกซอกซอยให้เข้าถึงได้ง่าย จนรายได้และความคึกคักสามารถกระจายตัวลงไปยังพื้นที่เล็กๆ เหล่านั้นได้มากขึ้น
และเมืองที่โชคดีได้รับผังเมืองระดับเทพสร้าง ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนเลือกใช้จักรยานเป็นหนึ่งในพาหนะสำคัญ ก็คือ ‘Chandigarh’ หรือ จันดิการ์ เมืองหลวงของรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณาที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งได้รับการยกให้เป็นเมืองที่สะอาดและน่าอยู่ที่สุดในอินเดีย ที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวสวิสระดับตำนานอย่าง ‘เลอ คอร์บูซิเยร์’ (Le Corbusier) หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราเลือกเดินทางมาที่เมืองนี้
โดยการทำเมืองให้ ‘ผู้คนอยากขี่จักรยาน’ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทสำหรับการวางผังเมืองตั้งแต่ 1950 โดยเลอ คอร์บูซิเยร์ ได้กำหนดให้ ถนน V3 (ถนนที่เป็นเส้นแบ่ง sector ต่างๆ ของเมือง) ทุกสายทั่วเมือง ต้องมีถนน V7 (เส้นทางจักรยาน) และ ถนน V8 (ทางเท้าและทางจักรยานอยู่ด้วยเสมอ)
นอกจากนี้ด้วยขนาดของเมืองที่มีพื้นที่แค่ประมาณ 144 ตารางกิโลเมตร และมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมเกือบตลอดเส้นทาง การปั่นจักรยานในจันดิการ์จึงทั้งร่มรื่นและมีเส้นทางที่ไม่ไกลเกินปั่น
จักรยานจึงกลายมาเป็นวิธีการเดินทางที่ได้รับความนิยมในจันดิการ์มาตลอดตั้งแต่ยุค 60s โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีแรกของการสร้างเมืองใหม่ ที่หลายคนบอกว่าแทบจะไม่เห็นรถส่วนตัวบนถนนที่จันดิการ์เลย
แต่แค่การมีผังเมืองและโครงสร้างที่ดีอาจจะยังไม่พอ เพราะปัจจุบันหลังจากที่รถยนต์เริ่มเข้ามาทำตลาดในอินเดีย คนส่วนใหญ่ที่เลือกใช้จักรยานในการเดินทางเหลือเพียงแค่ชนชั้นแรงงานที่ไม่มีเงินมากพอที่จะมีรถยนต์เป็นของตัวเอง มากกว่าจะเป็นทางเลือกของทุกคนเหมือนเมื่อก่อน
สิ่งที่จันดิการ์ขาดไป ก็คือนโยบายที่การปลูกฝังให้คนอยากกลับมาใช้จักรยานอีกครั้ง รวมถึงการบำรุงรักษาเส้นทางจักรยานเดิมที่เริ่มพุพังไปตามกาลเวลา และเส้นทางจักรยานที่ไม่ถูกสร้างเพิ่มตามการขยายตัวของความเจริญของเมือง ที่ทำให้เส้นทางเดิมที่มีไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง
แม้แต่ประธานสโมสรปั่นจักรยานจันดิกาห์ยังบอกว่า
“รัฐบาลแค่โปรโมทการใช้จักรยานเป็นสัญลักษณ์
แต่ไม่เคยทำอะไรที่ช่วยส่งเสริมการขี่จักรยานอย่างยั่งยืนจริงๆ เลย”
ปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่าจันดิการ์เป็น “Bike City of India” ก็คงจะพูดไม่ได้เต็มปากอีกต่อไปแล้ว แต่จันดิการ์ยังคงเป็นเมืองที่กำลังพยายามเริ่มต้นใหม่ และทำให้จักรยานกลับมาเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนเลือกใช้อีกครั้ง
หลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็น Smart City ในปี 2559 นโยบายส่งเสริมให้ใช้จักรยานก็กลับมาอยู่ในแผนการทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง โดยได้เริ่มต้นไปแล้วด้วยการจัดหาจักรยานถึง 5000 คัน มาประจำตามจุดต่างๆ ในเมือง กว่า 500 จุด เช่น ทะเลสาบ Sukhna, ย่านการค้าที่ Sector 17 มหาวิทยาลัย Punjab, และ Rose garden ฯลฯ และเปิดให้เป็น public bike sharing ที่ผู้คนในเมืองสามารถมายืมไปใช้บริการได้ นอกจากนี้ยังตั้งให้วันพุธเป็นวัน no-vehicle day อีกด้วย
แถมนอกจากนโยบายจากรัฐแล้ว จันดิการ์ยังมีกลุ่มผู้ใช้จักรยานมากมายที่พยายามทำงานเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการขี่จักรยานอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น The Cycologist Brigade, Chandigarh Cycling Club, Riders of the Storm หรือ Track and Trail Chandigarh
และถึงแม้จะจักรยานจะไม่ใช่ทางเลือกหลักของคนจันดิการ์อีกต่อไป แต่การได้มาเยี่ยมจันดิการ์ในครั้งนี้ของเราก็ยังได้เห็นการให้ความสำคัญกับผู้ใช้จักรยานที่โดดเด่นอย่างหาตัวยากที่ซ่อนอยู่ในมุมต่างๆ ของเมือง และได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่กลมกลืนไปกับการใช้จักรยานอย่างมีชีวิตชีวา
หลังจากชมภาพถ่ายชุดนี้แล้ว ก็มาเป็นกำลังใจให้จันดิการ์กันด้วยนะ 🙂
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://citizenmatters.in/bicycle-projects-in-smart-city-chandigarh-and-panchkula-14942https://www.hindustantimes.com/punjab/more-power-to-the-pedal-meet-chandigarh-cyclists-already-on-the-right-track/story-UroJSkxvMLSGt5NRLpu2JN.html
Contributors
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Writerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย
กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง
Photographerนักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย