close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ‘PHOkitchen’ บรรเทาความคิดถึงบ้านด้วยร้านอาหารที่ถักทอจากวัตถุดิบในสวน(ครอบ)ครัว

Trawell
Contact search
Eat Well 1.5k

‘PHOkitchen’ บรรเทาความคิดถึงบ้านด้วยร้านอาหารที่ถักทอจากวัตถุดิบในสวน(ครอบ)ครัว

30 August 2020 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง ภาพ ชนิภา เต็มพร้อม
“การได้ตื่นเช้ามาหิ้วตะกร้าสานคู่ใจเดินออกไปเลือกเด็ดผักและผลไม้ในสวนที่ปลูกเอง ก่อนจะนำไปเสกให้เป็นอาหารโฮมเมดจานอุ่นเพื่อรับประทานพร้อมหน้ากันกับทั้งครอบครัว” คงเป็นฉากแสนน่ารักไม่ต่างหนัง Little Forest ที่ไม่ว่าใครก็อยากมีชีวิตแบบนี้ซักครั้ง

‘กิ๊ก-กุลวดี โพธิ์อุบล’ สาวน้อยชาวนครปฐมผู้โตมากับชีวิตแสนโรแมนติกแบบประโยคข้างบนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เมื่อภารกิจ ความสัมพันธ์ และช่วงวัย ทำให้ที่อยู่ในปัจจุบันของเธอกลายเป็นเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ความคิดถึงจึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เธอสร้างร้านอาหารเล็กๆ อย่าง ‘Phokitchen’ ขึ้นมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมันๆ ในเมืองใหญ่ และความอบอุ่นใจในจานอาหารที่คุ้นเคย

‘โพธิ์คิทเช่น’ เป็นร้านอาหารสไตล์โฮดเมดไซส์เล็กของ ‘กิ๊ก-กุลวดี โพธิ์อุบล’ และ ‘มอช-พงศธร คุ้มปลี’ ที่เพิ่งเปิดหมาดๆ เพียง 1 เดือนในซอยลาดพร้าว 29 ซึ่งตั้งใจอยากสร้างร้านอาหารที่ทำให้คนกินได้รู้จักที่มาที่ไปของวัตถุดิบในจานผ่านการทำอาหารสดๆ ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการนวดเส้นพาสต้าสดใหม่, ขูดชีสสดจากก้อนชีสทำมือ หรือหั่นมะเขือเทศสดจากสวนมาเติมรสเปรี้ยวให้กับอาหาร

ตามมารู้จักกับร้านอาหารสุดน่ารักแล้วแวะชิมเมนูอบอุ่นจากสวน(ครอบ)ครัวให้มากขึ้นได้ที่นี่เลย

Little Forest In Real Life

“เราโตมากับการที่ย่าสอนว่า ถ้าร้อนก็ให้ไปอยู่ใต้ต้นไม้จะได้เย็นขึ้น กลางวันเราก็จะเอาเสื่อไปปูเอาหนังสือไปนอนอ่านใต้ต้นไม้ พอโตมาถึงได้รู้ว่าสิ่งนี้มันคือการปิคนิค”

กิ๊กเล่าว่า เธอเติบโตมากับชีวิตที่ไม่รู้จักผงชูรสและใช้ไมโครเวฟไม่เป็น เพราะคุณแม่และคุณป้าซึ่งเป็นแม่ครัวประจำบ้าน นอกจากจะปรุงอาหารจากผักในสวนที่ปลูกเองแล้ว จนทำให้เมนูอาหารที่เธอได้ทานในแต่ละฤดูกาลแปรผันไปตามสิ่งที่ปลูกได้ในแต่ละช่วงแล้ว แม่และป้าของเธอยังให้ความสำคัญกับการปรุงรสด้วยวัตถุดิบสดๆ ซึ่งมั่นใจแล้วเท่านั้นว่าทั้งสะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพ ดังนั้นขั้นตอนไหนที่พอจะทำได้เอง แม่ครัวแห่งบ้านโพธิ์อุบลก็จะทำเองทั้งหมด กิ๊กจึงโตมากับการเล่นขูดมะพร้าวมาคั้นกะทิใช้เองและวิ่งเล่นซนอยู่ในครัวเสมอ

“เราโตมากับการที่แม่หิ้วตะกร้าเข้าไปในสวนแล้วก็เด็ดผักมาทำอาหาร ก่อนทำแม่ก็จะเอามาอวดคนในบ้านว่า ดูสิ วันนี้ถั่วแม่โตแล้ว ซึ่งผักที่แม่ปลูกในแต่ละฤดูก็จะแตกต่างกันไป อย่างช่วงฤดูร้อน แม่เราได้หยุดเพราะแม่เป็นครู แม่ก็จะปลูกข้าวโพด อาหารในช่วงนั้นก็จะมีข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ เมนูที่เรากินก็เลยเปลี่ยนไปตามผักในสวนของแม่”

“หรืออย่างป้าเรา ป้าเป็นครูโรงเรียนวัดแถวๆ บ้าน บางทีผู้ปกครองซึ่งก็คือชาวบ้านแถวนั้นก็จะจับปลามาฝาก วันนั้นเราก็จะได้กินปลาที่ชาวบ้านจับมาสดๆ จากแม่น้ำ อะไรประมาณนี้ ป้าเราจะให้ความสำคัญกับการกินมาก เพราะป้าสุขภาพไม่ค่อยดี เขาก็เลยไม่กินเนื้อสัตว์ เพราะจะย่อยไม่ได้ แล้วเน้นไปที่ผักกับปลา แต่พอเลือกกินอาหารดีๆ ที่เรารู้ที่มาที่ไป ตอนนี้ป้าก็ค่อนข้างแข็งแรงมาก ผมดำทุกเส้นเลย ขนาดอายุ 70 แล้ว”

เหตุเกิดจากความเหงา

กิ๊กอาจจะโตมากับครอบครัวนักปรุงอาหาร แต่เธอบอกว่าจริงๆ แล้วไม่เคยทำอาหารกินเองมาก่อน จนกระทั่งต้องย้ายออกจากบ้านไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ ด้วยความที่ต้องย้ายมาอยู่คนเดียว ในช่วงปี 4 ที่ทำทีสิสจึงทั้งว่างทั้งเหงา เมื่อเหงาก็คิดถึงบ้าน เมื่อคิดถึงบ้านก็นึกถึงการทำอาหาร กิ๊กจึงเริ่มทำอาหารกินเองและไปสมัครงาน Part time ที่ร้านพาสต้าและร้านกาแฟแก้เหงา

“ส่วนตัวเราเพิ่งมาเริ่มทำอาหารเองจริงๆ จังๆ ก็คือตอนไปเรียนที่เชียงใหม่ เพราะหนึ่งคือเรารู้สึกว่าที่เชียงใหม่วัตถุดิบดีๆ มันหาง่ายมาก สองคือคิดถึงบ้าน เพราะที่บ้านชอบทำอาหาร เราก็เลยทำอาหาร แล้วพอได้ทำอาหารเราก็ยิ่งสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น ได้ไปรู้จักกับเครือข่ายต่างๆ ได้ไปเจอกาดคนไทใหญ่ที่ขายผักผลไม้ออแกนิก ได้เรียนรู้ว่าวัตถุดิบที่มีที่มามันสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้”

กิ๊กเล่าว่า ช่วงเวลาที่ได้ทำอาหารกินเองและทำงานที่ร้านอาหารเป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุขมาก แม้จะเรียนจบและกลับมาทำงานประจำที่กรุงเทพจนไม่ได้ทำอาหารกินเองเหมือนเดิมแล้ว แต่เธอก็ยังคงคิดถึงช่วงเวลานี้อยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ได้โทรศัพท์ไปปรึกษาแม่ ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง

“วันหนึ่งตอนกลับมาทำงานประจำ เราเครียดมากๆ ก็เลยโทรไปคุยกับที่บ้าน แม่ถามว่า ช่วงนี้ได้ทำอาหารกินเองบ้างรึเปล่า ทำอาหารสิ จะได้หายเครียด เราก็เลยนึกถึงช่วงเวลานั้นที่เราเคยมีความสุข แล้วก็เลยเริ่มกลับมาทำอาหารกินเอง พอทำแล้วมีความสุขก็เลยคุยกับมอชว่า อยากลองทำอาหารขาย แล้วก็เริ่มทำโพธิ์คิทเช่นไปออกบูทตามงานต่างๆ พัฒนาจนมาเป็นร้านนี้ตั้งแต่ตอนนั้น”

ธุรกิจครอบครัว

ตามความตั้งใจแรกที่อยากเปิดร้านอาหารเพราะความคิดถึงบ้าน กิ๊กจึงพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างร้านอาหารเล็กๆ ร้านนี้ เข้ากับธรรมชาติของครอบครัวเธอที่นครปฐม ดังนั้นผู้ที่เป็นคนจัดเตรียมวัตถุดิบสุดออแกนิคส่งตรงจากสวนให้กับร้านจึงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากครอบครัวของเธอเอง ดังนั้นหากจะต้องตั้งสักชื่อให้กับร้าน ‘PHOkitchen’ ซึ่งมีที่มาจากนามสกุล ‘โพธิ์อุบล’ ของกิ๊ก จึงถูกเลือกให้ทำหน้าที่นั้น

“ร้านนี้เป็นกิจกรรมครอบครัวมาก คือวัตถุดิบแทบทุกอย่างป้าจะเตรียมให้ทั้งหมด วันอาทิตย์พอปิดร้าน เราก็จะจดแล้วไลน์ไปบอกว่าอยากได้อะไรบ้าง ป้าก็จะไปรวบรวมมาให้ ทั้งจากสวนที่บ้าน สวนของคนแถวนั้น ตลาดแถวบ้าน หรือร้านประจำที่ปกติที่บ้านซื้อมาใช้ตลอด ป้าก็จะประมาณว่า มะนาวต้องร้านนี้เท่านั้นถึงจะดี อย่างวัตถุดิบที่มาจากสวนของแม่ก็จะเป็นผักชีลาว ผักโขม โหระพา ฯลฯ แล้วเราก็จะเดินทางไปรับวัตถุดิบ ทำให้ได้กลับบ้านทุกสัปดาห์

ยกเว้นชีสกับครีมจะสั่งมาจากเชียงใหม่ คือเป็นคนที่แปรรูปชีสและครีมเองแบบออแดนิกในครัวเรือน ซึ่งก็เป็นคนที่เรารู้จักตั้งแต่สมัยทำงานที่ร้านพาสต้าที่เชียงใหม่ แล้วรสชาติมันต่างจากชีสที่ขายซุปเปอร์จริงๆ เวลาส่งเขาก็จะส่งมาทางห้องเย็นรถทัวร์ แล้วก็ไปรับที่สำนักงานรถทัวร์ ประมาณ 2 อาทิตย์ครั้ง เพราะมันเป็นชีสสดที่ค่อนข้างเสียง่าย ถ้าเก็บไม่ดีก็ขึ้นรา เราก็เลยสต็อกทีละน้อยๆดีกว่า”

จากประสบการณ์การสู่อาหารจานน่ารัก

เมื่อพูดถึงร้านโพธิ์คิทเช่น จะไม่พูดถึงเมนูสุดฮอตอย่าง ‘ข้าวผัดฟ้าใส’ คงไม่ได้ เพราะเมนูนี้ถืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนได้เริ่มทำความรู้จักกับร้าน แต่นอกจากข้าวผัดฟ้าใสที่มาจากประสบการณ์การดูหนังเรื่อง weathering with you ของทั้งสองคนแล้ว พี่ๆ ยังมีเมนูอื่นๆ ที่เก็บเล็กผสมน้อยมาจาก ความทรงจำให้ชิมกันอีก ไม่ว่าจะเป็น ‘tune in for donut’ โดนัทเบ็นเย่ สไตล์ฝรั่งเศส ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง tune in for love และ ’นมน้ำผึ้งของปอนโย’ จากเรื่อง ponyo

“ข้าวผัดฟ้าใสมันเริ่มมาจากที่เราทำกินกันเองหลังร้าน คือร้านอาหารเล็กๆ มันมีปัญหาเรื่อง food waste อยู่แล้ว เพราะมันมีโอกาสที่วัตถุดิบที่เตรียมไว้จะเหลือ ในทุกๆ วันเราก็เลยเอามาทำกินเอง ซึ่งทำแบบเดิมตลอดมันก็น่าเบื่อ เราก็จะหาเมนูใหม่ๆ มาทำ พอดีอาทิตย์นั้นเราไปดูหนังกันมา แล้วเกิดสงสัยว่ารสชาติมันจะเป็นยังไง ก็เลยเอามาลองทำกินกัน

แล้วก็เอามาผสมกับความเป็นเรา ใส่เบคอนเพิ่ม ใส่ผักชีลาวเพิ่ม แล้วก็ลองปรุงรสแบบที่เราอยากกิน ลองเปลี่ยนจากเลย์เป็นโดริโทส เพื่อให้รสชาติเข้มข้นขึ้น ใส่ไควาเระ ที่เป็นผักญี่ปุ่นที่คล้ายกับต้นอ่อนทานตะวันเพื่อช่วยตัดเลี่ยน พอถ่ายรูปแล้วเขียนเล่าเรื่องของมันลงไป ปรากฏว่าทุกคนตื่นเต้นและก็ค่อนข้างมีผลตอบรับดีมาก คนอยากให้ทำขาย เราก็เลยตัดสินใจทำขาย

ส่วนโดนัทเบ็นเย่ มีที่มาจากเรื่อง tune in for love ที่เป็นหนังเกาหลี ในเรื่องมันพูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในร้านเบเกอรี่ของแม่ แล้วที่ร้านเขาจะชอบทำโดนัทอันนี้กินกัน เหมือนเป็น comfort food ที่กินแล้วสบายใจ พอนางเอกมีเรื่องไม่สบายใจก็จะมาขอให้พี่สาวทำโดนัทอันนี้ให้กิน พอเราดูแล้วก็อิน ก็เลยเอามาลองทำกินเอง แล้วก็พัฒนามาเป็นเมนูนี้”

เครื่องปั้นดินเผา

มอชบอกเราว่า โพธิ์คิทเช่นก็เป็นเหมือนเครื่องปั้นดินเผา เพราะกว่าร้านจะเป็นรูปเป็นร่างเหมือนในทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดจากแค่พวกเขาสองคนเท่านั้น แต่คือครอบครัว เพื่อน พี่น้อง และลูกค้า ที่ค่อยๆ เติมรายละเอียดต่างๆ แล้วสร้างโพธิ์คิทเช่นที่น่ารักแบบนี้ขึ้นมา

“มันไม่ได้เป็นแค่เราสองคนอย่างเดียว มันคือเพื่อน คือพี่น้อง คือครอบครัว คือลูกค้าที่เข้ามากิน เราเหมือนเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เขาตบๆ ขึ้นมาจนมีรูปทรง การที่เรามีร้านแบบ pop-up ที่รัชดาซอย 3 ขึ้นมา ก็เพราะลูกค้าที่เคยกินตอนออกบูธบอกเราว่าอยากตามมากินอีก การที่เรามีร้านใหญ่ตรงนี้ ก็เพราะลูกค้าบอกว่าชอบอาหารเรานะ แต่ที่น้อย นั่งไม่สบาย เปียกฝน”

“แล้วเราอยากให้คนที่มากินอาหารกับเราสบายใจ เรื่องความอร่อยของอาหารมัน subjective อยู่แล้ว ว่าแต่ละคนชอบแบบไหน บางคนชอบกินเผ็ด บางคนชอบกินจืด เราไปบังคับตรงนั้นไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการทำให้ประสบการณ์ของคนที่มากินรู้สึกสบาย แต่พอมากินแล้วมันไม่สบายใจ ถึงเขาจะบอกว่าอร่อยก็จริง แต่เขาบอกเองเลยว่าอาจจะไม่ได้กลับมาแล้ว เพราะมันไม่ค่อยมีที่นั่ง มันลำบาก เราก็เลยคิดแล้วว่าเราต้องขยับแล้ว ก็เลยเริ่มหาเช่าที่กัน จนมาลงตัวที่นี่”

“เมื่อก่อนเราเป็นซุ้ม Outdoor แล้วก็เอาเก้าอี้มาตั้ง 1-2-3-4-5 ตัว นั่งล้อมซุ้ม ตอนนี้เรามีที่นั่งมากขึ้น มีแอร์ มีหลังคากันฝนแล้ว แต่เราก็ยังอยากเก็บมู้ดแบบเดิมๆ เอาไว้ ก็เลยจัดที่นั่งให้ยังมีส่วนที่ได้นั่งล้อมดูเราทำอาหารเหมือนเดิม เพราะอยากให้คนมากินรู้สึกสบายใจ ให้เขาได้มองเห็นสดๆ เลยว่าวัตถุดิบที่เราเอามาทำให้กินมันคืออะไร มาจากไหนยังไง สงสัยอะไรก็สามารถถามได้ แล้วเราก็สามารถเล่าให้เขาฟังได้เลย”

Info

PHOkitchen

open time icon
เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10:00 - 12:00 Brunch menu 12:00 - 15:00 Full menu และ 18:00 - 21:00 Full menu (15:00 - 18:00 ร้านปิดพักระหว่างวัน ระวังไปเก้อนะ)

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read