close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Milkman Returns! การกลับมาของคนส่งนม

Trawell
Contact search
Live Well 4.5k

Milkman Returns! การกลับมาของคนส่งนม

8 January 2021 เรื่อง อรอารยา วรวราชัย

Milkman อาชีพที่สอนให้เรารู้ว่า
เดลิเวอรี่ที่ดีต่อ โลก-เมือง-ชุมชน ยังมีอยู่จริง

ท่ามกลางความรุนแรงของสถานการณ์ Covid-19 ธุรกิจอาหารแบบเดลิเวอรี่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตของผู้คนมากขึ้น พร้อมกับขยะจากบรรจุภัณฑ์จำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน

ในขณะเดียวกันในอีกฟากนึงของโลก ธุรกิจเดลิเวอรี่อายุร้อยกว่าปี ที่เคยเลือนหายไปจากสังคมอย่าง ‘Milkman’ หรือ ‘คนส่งนม’ เองก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งและมีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรน่านี้

ด้วยกระบวนการทำงานที่เน้นระบบสายส่ง โดยแบ่งการจัดส่งเป็นเขตพื้นที่ และเป็นเวลานอกจากจะทำให้ไม่มีค่าส่ง ไม่มีจำนวนสั่งขั้นต่ำ และยังไม่สร้างขยะอีกด้วย เพราะนมเหล่านี้บรรจุมาในขวดแก้วทุกเช้า ก่อนที่พี่ๆ คนส่งนมจะมารับขวดกลับไปในรอบส่งถัดไป โดยธุรกิจ Milkman ในปัจจุบันไม่ได้ส่งแค่นมสดใหม่ในขวดแก้วไปตามบ้านเท่านั้น แต่ยังมีการจัดส่งวัตถุดิบสดใหม่จากเกษตรกรโดยตรงอีกด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยเราก็มีรถพุ่มพวงและธุรกิจเดลิเวอรี่หลายๆ เจ้าที่กำลังพยายามปรับตัว Trawell จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนไปทำความรู้จักและถอดบทเรียนดีๆ จากอาชีพนี้กัน

ภาพ: Bettmann Archive/Getty Images

ต้นกำเนิด Milkman

ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 ที่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ผู้คนต้องเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยเล็กลง และห่างไกลจากแหล่งนมสด อาชีพคนส่งนม (Milkman) ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งนมสดใหม่ไปตามบ้านในทุกๆ วัน เริ่มแรกจากแบบที่ต้องขนไปทั้งถัง ไปเติมให้แต่ละบ้าน จนมีการพัฒนาขวดแก้ว ฝาปิดขึ้น ไปจนถึงการพิมพ์โฆษณาลงบนขวดแก้ว

Milkman ทำงานยังไง?

ในอดีตการสั่งสินค้าต้องใช้วิธีสั่งโดยตรงกับคนส่งนม หรือโทรศัพท์ไปสั่ง ขวดแก้วบรรจุนมสดใหม่จะถูกส่งถึงหน้าประตูในตอนเช้า เก็บเงินจากลูกค้า และเก็บขวดนมที่ล้างแล้วกลับไป นับว่าเป็นงานที่หนักมากทีเดียว

โดยปกติคนส่งนมจะเป็นผู้ชาย แต่ในช่วงสงครามโลกที่ผู้ชายต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ทำให้มี ‘Milkwoman’ คนส่งนมที่เป็นผู้หญิงเข้ามาทำหน้าที่แทน

ภาพ: Milk and More/Flickr

ไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่เป็นเพื่อนกัน

เพราะได้เห็นหน้ากันทุกวัน คนส่งนมจึงคล้ายกับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ชาวชุมชนให้ความไว้วางใจ และเป็นหูเป็นตาให้กับชุมชนเสมอมา คนส่งนมบางคนส่งให้บางบ้านนานถึง 40 ปี จึงคล้ายกับเป็นเพื่อนที่เห็นกันมาทั้งชีวิต เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้นต่างฝ่ายต่างก็ให้การสนับสนุนและกำลังใจกันและกัน

มีเรื่องราวน่ารักๆ อย่างเช่น คุณลุง Steve Hayden คนส่งนมประจำย่าน Wanstead ที่ได้รับเกียรติในการทำหน้าที่กล่าวนำในพิธีเปิดไฟต้นคริสมาสต์ประจำเมือง Wanstead ที่ลุงแกก็ยังไม่ลืมขายของว่า “กินนมขวดแก้วอร่อยกว่านะเออ”

ภาพ: pleasantfamilyshopping.blogspot.com

การล่มสลายของ Milkman

“ในปี 1980s 90% ของนมที่ชาวเมือง Britons ถูกจัดส่งถึงหน้าประตู แต่ทว่า ในปี 2016 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียงแค่ 3%” โดยสาเหตุหลักคือปัจจัยด้านราคา และความสะดวก

ช่วง 1930s ถึง 1940s ตู้เย็นกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกันปกติทุกบ้าน ผู้คนสามารถเก็บของสดได้นานหลายวันในตู้เย็น

มาถึงราว 1950s ซุปเปอร์มาร์เก็ต ถือกำเนิดขึ้น จากเดิมที่จะต้องไปตามร้านเฉพาะของของชนิดนั้น เช่น ร้านขนมปัง ร้านเนื้อ ฯลฯ แต่เมื่อมีซุปเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าสามารถซื้อทั้งหมดในคราวเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อดึงดูดลูกค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตหันมาใช้กลยุทธ์ราคา ‘Loss Leader Pricing’ ยอมขายนมที่เป็นสินค้าขายดีในราคา ‘ต่ำกว่าต้นทุน’ เพื่อดึงคนเข้ามาจับจ่ายที่ร้านของตัวเอง และหากำไรจากสินค้าตัวอื่นๆ แทน ทำให้ราคานมกระทบไปทั้งหมดจนถึงราคาหน้าฟาร์ม

ภาพ: Popupcity.net

The Return of Milkman

ในศตวรรษที่ 21 milkman กลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศตะวันตก จากคนรุ่นใหม่ที่อยากช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยการลดขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองลอนดอน ที่บริษัทส่งนมเก่าแก่อย่าง Parker Dairies กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

พวกเขาบอกว่า ลูกค้าใหม่ๆ ของพวกเขายินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับบริการเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม โดยขวดนมที่ดื่มแล้วจะถูกทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป ในขณะที่ขวดนมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง จะต้องใช้เวลากว่า 470 ปีในการย่อยสลาย นั่นหมายความว่า ขวดนมที่เราพึ่งดื่มเสร็จไปจะต้องอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกไปอีก 470 ปี

ไม่กินนมวัวได้ไหม?

ได้สิ!

นมทางเลือกอย่างนมมะพร้าว และนมข้าวโอ๊ต ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการหลีกเลี่ยงนมวัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสากรรมโคนม (วัวเป็นสัตว์ที่ปล่อยแก๊ส Methane สูง ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สร้างผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศมากกว่าแก๊ส CO2 ถึง 23 เท่า)

สะพานเชื่อมผลผลิตจากเกษตรกรท้องถิ่น สู่ผู้บริโภค

เว็บไซต์ของบริษัทส่งนมเก่าแก่อย่าง Parker Dairies และ Milk & More ในประเทศอังกฤษ ได้เพิ่มอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นทั้ง ขนมปัง ชีส โยเกิร์ต ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตท้องถิ่น เพื่อให้ลูกค้าได้ทานอาหารที่ดีและมีคุณภาพที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด และสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย

วิธีการสั่งซื้อก็ง่ายดาย เพียงแค่เข้าไปที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อเลือกสินค้า และจ่ายเงิน จากนั้นก็รอรับของที่บ้านในรอบส่งถัดไปซึ่งกินเวลาไม่เกิน 1-3 วัน

สำหรับบริการเก่าแก่อย่าง Parker Dairies ที่มีลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่สะดวกสั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต ลูกค้ายังสามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยวิธีดั้งเดิมอย่างโทรศัพท์ หรือแจ้งไว้กับ Milkman ที่มาส่งสินค้าที่บ้านก็ได้เช่นกัน

ส่งฟรี นิดเดียวเราก็ส่ง

ด้วยระบบการส่งสินค้าคราวละมากๆ เป็นรอบๆ การจำกัดพื้นที่ และการเเบ่งเขตจัดส่ง ทำให้เหล่า milkmen สามารถจัดส่งสินค้าให้ฟรีโดยไม่ต้องกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อสินค้า เพราะการออกแบบเส้นทางการเดินรถเพื่อให้แต่ละรอบสามารถส่งสินค้าได้มากที่สุด ได้ช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ไปแล้ว

จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้สูงอายุที่อาจไม่ได้ต้องการสั่งอาหารจำนวนมาก และไม่สะดวกที่จะเดินทางไปซื้อของที่ร้านค้าด้วยตนเอง

Zero-Package

ในขณะที่เรากำลังหัวเสียกับขยะจำนวนมากที่มากับการหีบห่ออาหารของเรา บริการส่งนมที่ทำมากกว่าแค่การส่งนมอีกเจ้าซึ่งตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความยั่งยืนในทุกด้านอย่าง Milk & More ได้เริ่มต้นไอเดียการนำอาหารทั้งหมดใส่ลังและเดินเข้าไปส่งถึงในห้องครัว เพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด หลังส่ง สิ่งที่หลงเหลือก็คือลังเปล่าให้ Milkman ใช้ส่งของได้อีกไม่รู้กี่ครั้ง

ภาพ: Parker Dairies /Twitter

ฮีโร่บนรถกระบะ

จดหมายฉบับนี้เขียนโดยเด็กหญิงวัย 6 ขวบ เพื่อขอบคุณคุณลุงที่มาส่งสินค้าให้ถึงบ้านในเวลาที่โรค Covid-19 กำลังระบาด และขอให้คุณลุงปลอดภัยจากไวรัสโคโรน่า

Tony Fowler ทำหน้าที่ส่งนมมากว่า 35 ปีในย่าน Leicestershire ในช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา เขาได้ช่วย เปลี่ยนหลอดไฟ รับยา และแบ่งปันหนังสือให้กับลูกค้าที่สูงวัยของเขา ที่ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ และยังไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับซื้อของออนไลน์

Tony กล่าวว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ สิ่งสำคัญคือการทำให้แน่ใจว่าผู้คนยังโอเคอยู่ ด้วยการติดต่อพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ และพยายามแสดงอาการสงบและไม่แตกตื่น

ส่งท้าย

แม้เมืองไทยจะยังไม่มี milkman แต่ก็มีเหล่าเมสเซนเจอร์ เหล่าบุรุษไปรษณีย์ พนักงานเดลิเวอรี่ต่างๆ และรถพุ่มพวงที่คอยส่งข้าวส่งน้ำให้เรายามวิกฤติ ทราเวลขอขอบคุณและส่งกำลังใจให้ฮีโร่เหล่านี้ด้วยนะคะ

ที่มา:

https://popupcity.net/observations/milkmen-are-back-in-business-to-deliver-plastic-free-to-londoners-doorsteps/
BBC One https://m.facebook.com/story.php…
https://parkerdairies.co.uk/customer-selection

The Day the Milkman Went Away: A History of Home Milk Delivery

The return of the milkman: Does this time-honoured tradition still have a place in the 21st century?


https://www.milkandmore.co.uk/
https://www.facebook.com/pg/twopintsplease/
https://www.bbc.com/news/uk-england-leicestershire-51924665

Contributors

contributor's photo

อรอารยา วรวราชัย

Writer

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ที่ โก๊ะ เก๊ะ แก๊ะ ที่สุดในท่าพระจันทร์ ชอบของอร่อย ตกหลุมรักได้ง่าย และกำลังพยายามหาจุดบาลานซ์ระหว่าง ความมั่งมี กับ ความยั่งยืน // กรุงเทพตอนหลับใหลมีสามอย่าง เสาไฟ อากาศเย็น และคนไร้บ้าน และใช่ ชีวิตของเราต่างคู่ขนานไปกับพวกเขาตลอดมา

Next read