close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ‘ตลาดพลูดูดี’ 4 รุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่น ที่มุ่งหมายให้คนหันกลับมาสนใจคุณค่าในท้องถิ่นตนเอง

Trawell
Contact search
Live Well 4.9k

‘ตลาดพลูดูดี’ 4 รุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่น ที่มุ่งหมายให้คนหันกลับมาสนใจคุณค่าในท้องถิ่นตนเอง

8 January 2021 เรื่อง แทนไท นามเสน ภาพ แทนไท นามเสน

“คุณรู้จักท้องถิ่นของตัวเองดีแค่ไหน ?”

คำถามง่ายๆ ว่าด้วยความเข้าใจถิ่นฐานบ้านเรือนของตัวเองที่อาจทำให้ใครหลายคนสะดุด เพราะเราแทบทุกคนมักจะถูกความคุ้นชินของวิถีชีวิตใกล้ตัว เปลี่ยนเรื่องสนุกรอบตัวให้กลายเป็นของธรรมดาอยู่เสมอ

‘ตลาดพลูดูดี’ เป็นการรวมตัวของ 4 รุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่น ที่รวมตัวกันด้วยความตั้งใจอยากสะกิดให้ผู้คน ทั้งคนทั่วไปและคนในชุมชนเอง ตระหนักถึงคุณค่าแบบท้องถิ่นที่ซ่อนตัวรอการค้นพบอยู่ในย่านตลาดพลู หนึ่งในพื้นที่ค้าขายอันเก่าแก่ที่สุดของฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา

ตลาดพลูดูดี เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ ‘พี่ต้น’ ชลิดา ทัฬหากาญจนากุล (ต้น) แม่ค้าขายอาหารย่านตลาดพลูที่มีงานอดิเรกเป็นนักเล่าเรื่องท้องถิ่นด้วยภาษาอันจัดจ้านและเป็นกันเองจากเพจ ‘ถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู’

‘พี่จิ๋ม’ อรพิณ วิไลจิตร เจ้าของคาเฟ่กึ่งโฮสเทลสีเหลืองความสูง 3 ชั้น ที่เคยเป็นที่ทำการทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง ‘บ้านตลาดพลู’

‘พี่พี’ พีรวัฒน์ บูรณพงศ์ สถาปนิกผู้ทำงานร่วมกับสมาคมอนุรักษ์โบราณสถาน (ICOMOS) และอาจารย์พิเศษด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม

และ ‘คุณลุงประพันธุ์ ไตรรัตน์’ ข้าราชการบำนาญผู้ผันตัวมาเป็นเจ้าของห้องห้องสมุดเล็กๆ ของชุมชนชื่อ ‘ตลาดพลูรำลึก’

ทั้งสี่คนนี้กำลังจะจัดงานเทศกาลชุมชนสุดน่ารักของชาวตลาดพลูครั้งแรก ในชื่อ “หรรษาตลาดพลู” ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2562 ที่จะถึงนี้ ณ ห้องสมุดตลาดพลูรำลึก ย่านตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร อีกด้วย

ตามมาทำความรู้จักคนรุ่นใหญ่หัวใจรักชุมชนทั้งสี่คน
และกิจกรรมที่พวกเขากำลังจะจัดขึ้นไปพร้อมกันได้ที่นี่เลย!

ชลิดา ทัฬหากาญจนากุล (ต้น) – จากแม่ค้าขายอาหารธรรมดา สู่การเป็นนักเล่าเรื่องท้องถิ่นบนโลกออนไลน์

ชลิดา:

ตอนแรกเราก็เป็นแม่ค้าขายอาหารทั่วไปคนหนึ่งในตลาดพลู จนเราเริ่มสังเกตเห็นว่าคนที่มาตลาดพลูทุกวันนี้ก็มักจะมาหาของกินกันบริเวณใต้สะพาน จนเราเริ่มคิดว่าจริงๆ ตลาดพลูมันสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าแค่ร้านอาหารที่ขายกันเยอะๆ แค่ตรงสี่แยกตลาดพลู เราเลยตัดสินใจที่จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของเราในแบบตัวเอง ทำให้เพจถามสิอิฉันคนตลาดพลูเกิดขึ้นเป็นเพจขี้อวดที่อยากอวดของดีของชุมชนที่เราอยู่

เราเห็นว่าตลาดพลูไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องอาหารการกิน แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่มีความหลากหลายแต่ต่างอาศัยอยู่ร่วมกันได้ มีตั้งแต่พุทธ คริสต์ อิสลาม และก็มีอาหารพื้นถิ่นอีกหลายอย่างที่มันมากกว่าการกระจุกตัวอยู่ตรงสี่แยกตลาดพลู เพราะแต่ละพื้นที่ของตลาดพลูต่างมีคนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลานาน แล้วเขาก็จะทำอาหารพื้นถิ่นของเขาขึ้นมาหลายอย่าง ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

เราก็เลยลองทำเป็น Content ในแบบของเรา ทำเป็นเส้นทางอาหารให้คนได้เข้ามาเที่ยว แล้วคนในชุมชนก็จะได้เกิดการพัฒนาร่วมกัน เห็นความสำคัญของชุมชนของตัวเองร่วมกัน ดูน้อยลง

พีรวัฒน์ บูรณพงศ์ (พี) – สถาปนิกผู้เล่าเรื่องบ้านเกิดตัวเองด้วยสีน้ำ

พีรวัฒน์:

ผมเป็นสถาปนิก จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนแรกผมยังไม่ได้รู้จักกับทั้งสามคนมาก่อน ผมก็ทำของผมไปเอง ทำงานด้านสีน้ำที่เป็นงานอดิเรกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาเจอพวกเขา เราก็เลยคิดจะเอาสิ่งที่เราสนใจและถนัดมาใช้พัฒนาชุมชนของเรา โดยเริ่มเจาะกลุ่มอาคารที่อยู่ในย่านตลาดพลูทั้งหมดก่อน คือเริ่มเขียนสีน้ำวาดอาคารทั้งหมด จากนั้นจึงเริ่มศึกษาเรียนรู้อาคารแต่ละหลังว่ามีรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมอะไรบ้าง แล้วก็เริ่มชักชวนคนอื่นๆ มาทำกิจกรรมวาดรูปสีน้ำในตลาดพลูกันเพื่อทำความรู้จักย่าน

อรพิณ วิไลจิตร (จิ๋ม) – เจ้าของโฮลเทลสุดน่ารัก กับหัวใจนักกิจกรรม

อรพิณ:

ทำธุรกิจโฮลเทลอยู่ในซอยเทอดไท 27 ชื่อ บ้านตลาดพลู มาได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง ได้รู้จักกับทุกคนได้เพราะเริ่มจากที่คุณต้นมาแอบด้อมๆ มองๆ ที่หน้าบ้าน (หัวเราะ) อยู่ตลอดเลย จนวันหนึ่งแฟนพี่เปิดประตูออกมาก็มาเจอคุณต้น เราก็เลยเริ่มคุยกัน ได้รู้จักกัน จากนั้นคุณต้นก็พาคุณพีมาแล้วก็ฮิน ‘ฐากูร ลีลาวาปะ’ จากกลุ่มยังธนมาด้วย เราก็เลยเริ่มรู้จักคนที่ทำงานชุมชนทำงานเมืองมากขึ้น ตอนนี้ก็รู้จักกันมาได้เกือบปีแล้ว ทำงานต่างๆ เกี่ยวชุมชนด้วยกันตลอดตั้งแต่นั้น

ประพันธุ์ ไตรรัตน์ – เจ้าของห้องสมุดเล็กๆที่เปี่ยมด้วยเจตนารมณ์เพื่อชุมชน

ประพันธุ์:

เป็นคนคลองสานมาตั้งแต่กำเนิด แต่มีมรดกบ้านของพ่อตั้งอยู่ที่ตลาดพลู พ่อยกให้ตั้งแต่อายุสามขวบ แต่เราออกไปทำงานราชการที่อื่นอยู่หลายปี พอเกษียณกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลาย เราก็พักอยู่แต่แต่ที่บ้านพักคนชรา สุดท้ายก็เลยไม่ค่อยได้กลับมาที่บ้านนี้อยู่ดี

เลยตั้งใจเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นห้องสมุด เพื่อให้คนในชุมชนได้มีที่อ่านหนังสือกัน แล้วพอดีมาเจอพวกเขาที่มาขอใช้พื้นที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน เราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์กับทุกคนเหมือนที่ตั้งใจอยากให้ห้องสมุดของเราเป็น ก็เลยให้ใช้พื้นที่มาตลอด แต่ต้องเป็นช่วงเสาร์อาทิตย์ เพราะวันธรรมดาเราจะไม่มีเวลามาดูแล

กำเนิดตลาดพลูดูดี

ชลิดา:

พี่น่ะเป็นคนจอมบงการ (หัวเราะ) ส่วนพี่พี (พีรวัฒน์) เป็นคนที่คอยตาม ทำตามได้ทุกเรื่อง แล้วพี่จิ๋ม (อรพิณ) ก็เหมือนเป็นคนประสานงานที่ดี มีวาทะศิลป์ที่ดี คุณลุง (ประพันธ์ุ) ก็ใจดีอนุเคราะห์สถานที่ให้ตลอด แต่ละคนเลยมีส่วนเติมเต็มให้กัน ทำงานจึงราบรื่นขึ้น เพราะอย่างตอนแรกที่พี่เริ่มทำเพจ ก่อนเราจะทำ Content เราก็เริ่มหาข้อมูลต่างๆด้วยตัวเองก่อน ทุกอย่างที่เขียนในเพจอาศัยการซื้อมารับประทานเอง มีสัมภาษณ์นิดหน่อย แรกๆสำหรับเราตอนนั้นคิดว่าเราทำเรื่อยๆ ทำเอาสนุกๆ แต่มันก็เหมือนเราทำอยู่คนเดียวนะ จนกระทั่งเรามาเริ่มทำกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน ได้รู้จักแต่ละคน เราจึงรู้ว่าจริงๆแล้วเราไม่ได้ทำอยู่คนเดียว มีคนพร้อมที่จะช่วยเหลือเราตลอดเวลา จุดไหนที่เขาสามารถช่วยได้ เขาก็จะช่วยเหลือโดยไม่รีรอ

อรพิณ:

ในฐานะที่เราไม่ได้มีพื้นเพที่นี่ เข้ามาเป็นสมาชิกได้ไม่นาน เรารู้สึกว่าตลาดพลูเป็นเมืองเก่า เมืองน่ารัก แต่ตอนแรกๆที่มาอยู่ เราเหมือนรู้สึกว่ามันน่ารักอยู่คนเดียว (หัวเราะ) แล้วเราก็ยังไม่รู้จักคนมาก เวลาออกไปเดินเล่นในย่าน จะรู้สึกว่าคนที่นี่น่ารัก เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีวิธีการที่จะไปสัมผัสหรือรู้จักพวกเขาได้ จนมาเจอพี่พี มาเจอคุณต้น คุณต้นก็พามาหาคุณลุงประพันธ์ เราเลยมาขอเข้าร่วมกิจกรรมกับเขา ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มรู้สึกได้ว่าคนที่นี่เขาน่ารักจริงๆ และเราอาจจะโชคดีด้วยที่เจอกับสามคนนี้ที่ สิ่งที่เขาทำเหมือนเป็นผู้ให้ เราเลยยิ่งรู้สึกชอบ รู้สึกอยากทำ อยากมีส่วนร่วมเหมือนที่ทั้งสองคนทำ อีกอย่าง เราเป็นคนกรุงเทพมาตั้งแต่เกิด เดี๋ยวนี้คนเมืองไม่ค่อยสนใจกันเท่าไหร่ พอเรามาเจอแบบนี้ เห็นแต่ละคนลงแรงทำเพื่อชุมชน เราเองเกิดแรงบันดาลใจ อยากลงมือทำอยากช่วยเหลือชุมชนเหมือนกัน

พีรวัฒน์:

แม้ว่าผมจะทำกิจกรรมสีน้ำของผมไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่าสมัยก่อนในตลาดพลูไม่มีกิจกรรมชุมชนในทำนองนี้มาก่อนเลยนะ เราเลยคิดว่าเราจะน่าจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างที่ทำให้คนในชุมชนมารวมตัวกัน ประชาสัมพันธ์ชุมชนให้คนภายนอกได้เข้าใจ เห็นคุณค่าของชุมชนว่ามีอะไรดีบ้าง เราเลยมาคุยกันว่าจะทำอะไรให้ชุมชนได้บ้าง ผ่านความถนัดที่แต่ละคนมีออกมา เช่น ของกิน ศิลปะ เป็นต้น เป็นตัวนำให้คนเข้ามาในชุมชนของเขา

ประพันธุ์:

รู้จักกันได้เพราะต้นเขาชวนมาให้ร่วมกิจกรรม ให้มาเล่าเรื่องเกี่ยวกับห้องสมุดของเรา และก็เรื่องที่เราเป็นมังสวิรัติ เพราะเห็นว่าเรามีความรู้เรื่องผักผลไม้ ทานอาหารมีประโยชน์ปลอดสารพิษ จนไปๆมาๆ ที่นี่ก็ได้ใช้ทำกิจกรรมของกลุ่มมาตลอดเรื่อยมา

ปัญหาของนักเล่าเรื่อง

พีรวัฒน์:

ครั้งแรกที่จัดกิจกรรม มีคนมาเข้าร่วม 5 คนเอง จากนั้นผ่านไปสักพักถึงจะมีคนเริ่มเข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนครั้งล่าสุดคือประมาณ 30 คนแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันค่อนข้างสะท้อนได้ชัดเจนว่า ในตอนแรกที่คนมันน้อยเพราะเรายังไม่มีเครดิตในเรื่องนี้เท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะทำงานนี้เราลงทุนกันเอง ควักเนื้อกันเอง มีคนสองสามคนเองที่ทำงานกันตรงนี้ คนเขาก็จะไม่เชื่อเรา พอเริ่มมีเห็นว่าเราทำงานจริงๆ ไม่ได้หาผลประโยชน์จากการจัด เราจัดกันสนุกๆ กิจกรรมเกิดประโยชน์ เกิดความสร้างสรรค์ คนก็เริ่มสนใจมากขึ้น

โดยกิจกรรมครั้งแรกเป็นกิจกรรมสีน้ำก่อน ครั้งต่อมาก็เป็นกิจกรรมพาเดิน พากินตามร้านอาหารต่างๆ พร้อมๆกับสำรวจย่านไปในตัว อย่างผมสนใจงานคราฟต์ ก็อยากจะให้มีเทศกาลชุมชนที่เน้นงานคราฟต์เป็นหลัก อาจจะมีดนตรีมาเล่นประกอบงานเบาๆ บ้าง

เวลาจัดงานแบบนี้ เรารู้สึกว่าเราอยากจัดในสเกลที่เราควบคุมได้ ผมเคยบอกกับ สสย.(สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน) ตอนที่เริ่มมีผู้สนับสนุนมาลงทุนร่วมจัดงานแบบนี้กับเราเอาไว้ว่า เวลาผมจัดงานชุมชนแบบนี้ ผมอยากจะขึ้นบันไดมากกว่าขึ้นลิฟต์ ขึ้นบันไดไปทีละเสต็ปมากกว่า แต่นี่บางทีก็ขึ้นเร็วไปเกินไปก็มี เลยอยากให้มันค่อยเป็นค่อยไปจริงๆ

อรพิณ:

ปัญหาหลักๆของเราเลยคือการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ เพราะเราไม่มีทักษะด้านนี้เท่าที่ควร เช่นเวลาเราอยากจะประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเรา เราก็อยากให้มันกระจายออกไปในวงกว้างกว่านี้ หรือใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กว่านี้ แต่เราก็ทำไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีแบบชาวบ้านๆ ถูๆไถๆ กันไปตามที่ได้

ชลิดา:

รู้สึกว่าแรกๆ ที่เราทำ เรื่องการสื่อสารเป็นปัญหาเหมือนกัน เนื่องจากเราจะทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจตลาดพลูในแง่มุมอื่นๆ ที่มากกว่าแค่ของกินหรือสี่แยกตลาดพลูเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างในเพจเรา เราก็เขียนไปตามประสาเรา มันก็จะมีแฟนๆ จำนวนหนึ่งที่ชอบอ่านงานสไตล์บ่นๆ ของเรา แต่ก็มีผู้อ่านอีกหลายกลุ่มโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เราอยากให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มันมีเรื่องราว มีความน่าสนใจอยู่

ตอนเราทำกิจกรรมเดินไปกินไป มันก็จะมีรูปจากคนที่ร่วมกิจกรรมถ่ายรูปลงตามสื่อโซเชียลถึงตลาดพลูในมุมอื่นๆ นอกจากมุมทั่วไปอย่างตรงสี่แยกตลาดพลูที่เราคุ้นเคย แสดงว่าคนภายนอกเริ่มมองเห็นแล้วว่าตลาดพลูไม่ได้มีดีแค่ย่านของกินตรงสี่แยกอีกแล้ว แต่ยังมีมุมอื่นๆที่น่าสนใจตลอดสองข้างทางที่เดินเลย แปลว่าสิ่งที่เราทำเริ่มเกิดความเป็นไปได้แล้ว ทำให้เราต้องพยายามต่อไป

ผู้สนับสนุนคนสำคัญ

ชลิดา:

ชาวตลาดพลูจริงๆ พวกเขาเริ่มรู้ว่ามีกิจกรรมและความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่เหมือนกันนะ ซึ่งจริงๆทุกๆคนใจดีกันมาก พร้อมจะช่วยเหลือตลอด เพียงแต่ว่าเราต้องรู้ว่าเราควรจะขอความช่วยเหลือเขาตรงไหนดี ต้องมีวิธีคุย เพราะปกติคนที่นี่จะไม่ค่อยชอบออกหน้ากัน ชอบช่วยเหลือนะ แต่ไม่ชอบออกหน้า

พีรวัฒน์:

ต้องมีคนออกหน้า มีคนแทนให้พวกเขา เขาช่วยอยู่ลึกๆ และก็เหมือนกับว่าให้เราสามคนออกหน้าซะ (หัวเราะ)

ชลิดา:

ซึ่งพอเห็นแบบนี้ เราเลยเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะมีแรงขับเคลื่อนชุมชนหรือเกิดความร่วมมือในระดับชุมชนต่อกิจกรรมต่างๆในอนาคตมากยิ่งขึ้นด้วย

หรรษาตลาดพลู : งานครั้งแรกในนาม “ตลาดพลูดูดี”

ชลิดา:

เป็นงานแรกที่เราจัดในนามกลุ่ม ตลาดพลูดูดี ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของพวกเราเพื่อจัดงานนี้เป็นงานแรกเลย เพราะเรารู้สึกว่าจากช่วงที่จัดกิจกรรมมาโดยตลอด จากที่มีคนเริ่มเข้าร่วมเพียง 5 คนในครั้งแรก ก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่พวกเราคิดว่า เราอยากจัดงานให้เป็นเหมือนเทศกาลเล็กๆ ของชุมชนขึ้นมา

อรพิณ:

จากการที่เราจัดกิจกรรมเล็กๆ ของพวกเรามาหลายครั้ง พวกเราก็เริ่มรู้จักคนในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่รู้สึกว่า เอ้ยเรามาลองจัดงานอะไรแบบนี้กันเถอะ ซึ่งทุกคนเองก็เห็นชอบด้วย โดยในงานก็มีการแสดงดนตรีของ ศิลปะ และก็อาหาร โดยเฉพาะอาหารคือเราจะเน้นเป็นอาหารที่หาทานได้ยากเป็นหลัก และในภาพรวมของแต่ละอย่างในงานจะเน้นเป็นงานแบบ DIY (Do it by yourself) เป็นหลักเลย

ชลิดา:

งานนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะแสดงให้คนภายนอกได้เห็นจริงๆว่าเราทำอะไรกันอยู่ เกิดอะไรขึ้นบ้างในกิจกรรมชุมชนของย่านตลาดพลู และทำให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เป็นสิ่งที่ดี ไม่หวังผลกำไร และมันกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ในตลาดพลู ซึ่งเราเองก็ได้รับความร่วมมือมากๆ จากพ่อค้าแม่ขายที่มาร่วมเปิดร้านกับเรา คือเราก็บอกกับเขาตรงๆว่ามันอาจจะไม่ได้กำไรมากมายนะ แต่ทุกคนก็เข้าใจว่างานนี้ถือว่ามีจุดประสงค์สำคัญที่ต้องการบอกคนภายนอกว่าคนตลาดพลูกำลังเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนแล้วนะ

พีรวัฒน์:

งานนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมประเภทเทศกาลทำนองนี้ครั้งแรกของตลาดพลูเลยก็ว่าได้ และเป็นครั้งแรกของกลุ่มเราด้วย

อรพิณ:

และเราก็เลือกมาจัดที่บ้านคุณลุงประพันธ์เพราะว่าที่ทางมันกว้างขวาง อีกอย่างคุณลุงเองก็มีแฟนคลับอยู่ด้วย (หัวเราะ)

งานของชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน

ชลิดา:

จากที่เราเริ่มต้นทำเพจแบบสนุกๆ ไม่ได้จริงจังมาก กลายเป็นว่ามันพาเราไปเจอผู้คนมากมายที่อยากทำงานเพื่อชุมชนจริงๆ ได้รู้ว่าเราไม่ได้ทำมันอยู่คนเดียวนะ มีคนอีกมากมายพร้อมเดินไปกับเรา แม้ว่าบางครั้งมันจะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินเลยก็ตาม

พีรวัฒน์:

งานชุมชนแบบนี้จริงๆ มันทำให้คนชุมชนอย่างเช่นในในตลาดพลูเองหลายคน ไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าที่นี่มีอะไรน่าสนใจบ้าง สิ่งที่เราทำก็เหมือนเป็นการปลุกความสนใจให้คนในพื้นที่เริ่มหันมาสนใจของที่บ้านของตนเองมีว่ามีประโยชน์และสามารถต่อยอดไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายคนที่จะได้รับประโยชน์ไม่ใช่พวกเราเลย แต่เป็นชุมชน

อรพิณ:

เราว่ามันน่ารักดี เหมือนมันเกิดความสามัคคีขึ้นในชุมชน ผู้คนในชุมชนเองก็ได้รู้จักกันมากขึ้น จากส่วนใหญ่เดินสวนกันก็จะแค่มองหน้าว่า อ่อคนนี้บ้านอยู่ตรงนี้นะ แต่พอเราได้มาจัดงานร่วมกัน ทำอะไรร่วมกัน ครั้งหน้าที่เราเดินสวนกันอีกเราคงจะเปลี่ยนจากแค่มองหน้า เป็นได้ทักทายกัน ได้รู้จักกัน

ประพันธ์ุ:

รู้สึกว่าการเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นห้องสมุด ก็เหมือนเราทำประโยชน์ให้กับชุมชนแล้ว แต่พอเรามาทำงานกับคนอื่น แล้วรู้ว่าห้องสมุดเรามันเป็นมากกว่านั้น มันทำให้เราภูมิใจในตัวเองเหมือนกันนะ

Contributors

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Writer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read