close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: 17 เรื่องที่ประเทศไทยควรทำให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า

Trawell
Contact search
Live Well 6.1k

17 เรื่องที่ประเทศไทยควรทำให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า

10 February 2021 เรื่อง อรอารยา วรวราชัย

หลายๆ คนอาจจะคุ้นหูกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs: Sustainable Development Goals ที่สนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติ (UN)

เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน (อยู่รอด) ของประเทศไทยและประชาคมโลก ในด้าน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การมุ่งเยียวยารักษาโลก พัฒนาคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากทำได้จริงก็คงจะดีไม่น้อย (ผู้เขียนเองก็เชื่อว่า ใครหลายๆ คนคงคิดไม่ต่างกันแน่ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้คงเป็นได้เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ ซึ่งอยู่ไกลตัวเหลือเกิน) แต่รู้หมือไร่! ว่าแผนเหล่านี้กำลังถูกผลักดันไปสู่การเป็นแผนในการทำงานของภาครัฐ และกำลังมีคนหลายๆ กลุ่มทำงานเพื่อสิ่งนี้อยู่

โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศสมาชิก UN ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงร่วมกันว่าจะผลักดันเป้าหมายทั้ง 17 นี้ให้เกิดขึ้นภายในปี 2030 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2016 นั่นหมายความว่า เรามีสัญญาที่รัฐบาลไทยลงนามต่อประชาคมโลก ว่าจะขจัดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน สร้างระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ยั่งยืน รวมถึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอีกหลากหลายโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ทราเวลจึงอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบร่วมกับ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีชื่อเล่นว่า SDG Move (หน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานเชิงวิชาการ และเป็นผู้ประสานงานในการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย) ถึงการทำงานและผลักดัน SDGs ภายในประเทศไทย สถานะตอนนี้ประเทศไทยเราอยู่ในจุดไหน และเราจะสามารถผลักดันประเทศให้บรรลุเป้าได้หรือไม่ ก้าวต่อไปของเราคืออะไร?

SDGs คืออะไร?

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจจะฟังดูไกลตัว แต่อ.ชลบอกว่า “ถ้าเราดูดีๆ แล้วเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนมันเป็นชีวิตที่คนทั่วไป ทุกๆ คนอยากจะไปถึง เช่น ไม่ยากจน มีอาหารกิน สุขภาพดี มีการศึกษา มีน้ำสะอาด มีงานทำที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง สังคมไม่เหลื่อมล้ำ เมืองน่าอยู่ เป็นต้น สุดท้ายแล้วมันก็คือสิ่งที่เราอยากเห็นนั่นแหละ มันคือสิ่งที่เราอยากเป็น อยากเห็น และอยากอยู่อย่างยั่งยืน”

โดยที่ UN ได้รวบรวมเป้าหมายที่สำคัญต่อการอยู่รอดของประชาคม ผ่านการคิดทุกมิติ และทำกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้คนราว 8.5 ล้านคนทั่วโลก จนได้ออกมาเป็นเป้าหมาย 17 ข้อของโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจน
เป้าหมายที่ 2: ขจัดความหิวโหย
เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม
เป้าหมายที่ 5: ความเท่าเทียมทางเพศ
เป้าหมายที่ 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
เป้าหมายที่ 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
เป้าหมายที่ 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เป้าหมายที่ 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
เป้าหมายที่ 10: ลดความเหลื่อมล้ำ
เป้าหมายที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายที่ 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
เป้าหมายที่ 15: การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
เป้าหมายที่ 16: สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
เป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย 17 เป้าหมายนี้ ไม่ใช้เป้าที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่ยังมีอีก 169 เป้าประสงค์ ที่ถูกใช้เป็นตัวชี้วัด ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายหรือยัง ซึ่งอ.ชล ชี้ให้เห็นว่า SDGs ไม่ใช่เพียงแค่เป้าหมาย แต่ยังถูกใช้เป็น ‘กรอบการทำงาน’ (framework) และ ‘กรอบแนวคิด’ ที่มีร่วมกัน เพราะการมีเป้าหมายและตัวชี้วัด จะทำให้ทุกคนไม่มองการพัฒนาการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าเป็นเรื่องที่ลอยๆ แต่เป็น ‘ภารกิจที่ต้องบรรลุให้ได้’

อ่านเพิ่มเติมที่ www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/

ความยั่งยืน = ความอยู่รอด
ที่หากไม่ทำตอนนี้ ‘อาจจะสายเกินไป’

คำว่า ยั่งยืน ในที่นี้มีความเร่งด่วนซ่อนอยู่ sustainability (ความยั่งยืน) แปลว่า ความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย นั่นหมายความว่า เราอาจไม่รอด!

Climate Change เป็นเรื่องจริง เรารู้ แฟนคลับรู้ โลกรู้ ใครๆ ก็รู้ ว่ามนุษย์น่ะ ไปรบกวนสิ่งแวดล้อมจนปั่นป่วนขนาดไหน เราเป็นคนไทย ไทยแปลว่าอิสระ แต่เราจะปล่อยให้โลกโดนทำร้ายอย่างนี้ต่อไปไม่ได้! โดยอ.ชลได้พูดถึงความกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบันให้เราฟังว่า

“แค่เรื่อง climate change เรื่องเดียว ก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติมากมายตามมา ตอนนี้อุณหภูมิโลกเราเพิ่มขึ้นมา 1.2 องศา เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และถ้าอุณหภูมิเพิ่มไปถึง 2 องศาเมื่อไหร่ น้ำเเข็งที่อยู่บนแผ่นดิน Greenland จะละลาย เมื่อนั้นน้ำจะท่วมกรุงเทพจนหายไปเลย นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ว่ารัฐบาลไทยก็ไม่ได้สนใจ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย

ไม่ใช่แค่นั้น การที่น้ำแข็งละลายอาจปลดปล่อยไวรัสต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคระบาดในคน สัตว์ พืช หากเกิดในพืชก็จะเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร หากเกิดในคนก็จะเป็นอย่างที่เห็น Covid-19 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญ หรืออย่างการแพร่กระจายของแมลงที่ไม่เคยเข้าไปในเขตเหนือก็มีขึ้นเพราะอากาศร้อน ซึ่งจะส่งผลด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของเรามากทีเดียว”

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้นที่เร่งด่วน ความเหลื่อมล้ำก็เป็นอีกปัญหาที่ฝังรากลึก ชอนไชในสังคม และกำลังทวีคูณขึ้นทุกวัน

“ก่อนที่จะมีโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ หรือว่าอีกหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าพูดแบบมักง่าย มันคือผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำที่มันมีอยู่ในสังคม แล้วพอโควิดเกิดขึ้นทำให้ความเหลื่อมล้ำมันทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เราเห็นผลของความเหลื่อมล้ำได้อย่างเข้มข้นมากซะจนรู้สึกว่า เรามาอยู่จุดนี้ได้ยังไง?” อ.ชลตั้งข้อสังเกต และคำถามที่น่าจะกระทบใจ ใครหลายๆ คน

ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่อันตรายและเร่งด่วนมากๆ และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่ว่าประเทศไหนก็มีปัญหานี้หมด รวมถึงปัญหาข้ออื่นๆ ที่ล้วนเกี่ยวพันเเละส่งผลถึงกัน ดังนั้นการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่เพื่อความยั่งยืน แต่เพื่อให้เรามีชีวิตรอดอยู่ต่อไป ดังนั้น SDG จึงเป็นประเด็นของ ‘โลกในศตวรรษที่ 21’ และเป้าหมายของเรา – มนุษยชาติ

ก้าวต่อไป เริ่มจาก “การรับรู้ว่าเรากำลังอยู่จุดไหน”

เมื่อเราถามอ.ชล ถึงก้าวต่อไปของการเอาชนะเป้าหมาย 17 ข้อนี้ ว่าคืออะไร น่าแปลก ที่คำตอบแรกของเขาคือ คำว่า ‘ตั้งสติ’ อ.ชลขยายความต่อไปว่า “คำว่าตั้งสติ ในระดับมนุษย์คนธรรมดา ก็คือหายใจลึกๆว่ามันเกิดอะไรขึ้นอยู่นะ?

ในทำนองเดียวกัน ระดับประเทศหรือระดับโลกก็ตาม เราจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นอยู่ ตอนนี้สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs หลายเรื่องเรารู้แล้วเพราะมีข้อมูล แต่บางเรื่องเราไม่รู้ด้วยซ้ำเพราะเราไม่เคยสนใจที่จะมองมัน ฉะนั้นการทุ่มกำลังไปกับการสำรวจว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนในเส้นทางไปสู่ความยั่งยืน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ในเมืองไทยยังค่อนข้างติดขัด ในเรื่องของข้อมูล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ คนทั่วไปจะเข้าถึงไม่ค่อยได้ ฉะนั้นจึงยากมากที่เราจะรู้ปัญหาจริงๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ คนธรรมดาทั้งหลาย จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา แล้วสะท้อนให้เห็นภาพว่ามันเกิดอะไรขึ้น

SDG Move ทำงานกับเครือข่ายวิชาการ เพื่อฉายภาพความยั่งยืนในเมืองไทยให้ชัดเจน ด้วยการประเมินสถานการณ์จากข้อมูล โดยใช้ 17 เป้าหมาย 169 ประเด็น เป็นกรอบ เพื่อให้เราสามารถคุยกันบนฐานของข้อมูลว่า เราจะทำยังไงกันต่อ?

การ ‘สื่อสาร’ ให้คนรู้ว่าตอนนี้ ‘สถานการณ์’ ในประเทศเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยกันยังไง
นี่คือ Step แรกที่สำคัญ”

4 ปีกับการผลักดัน SDGs ในประเทศไทย

นับเป็นเวลา 4 ปีแล้วที่ SDGs ถูกเผยแพร่และใช้เป็นกรอบในการทำงานสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม คำถามที่ตามมาคือ เป้าหมายเหล่านี้ได้ถูกผลักดันลงไปถึงคนข้างล่าง และเกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?

อ.ชล พาเราไล่ดูไปตามแต่ละภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน จนถึงภาคประชาสังคม
ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพการทำงานที่แตกต่างและน่าสนใจ

สำหรับภาครัฐ อ.ชล มองว่า เป็นภาคส่วนที่มีคนที่รู้เรื่อง SDGs มากที่สุด ทว่ายังกระจุกอยู่ระดับนโยบาย เช่น ฝ่ายแผนในสำนักปลัดของกระทรวงต่างๆ แต่ว่าการสื่อสารลงไปยังส่วนล่างนั้นยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจที่นำไปสู่การทำงานได้ “SDGs คือ 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ มันใหญ่โตมโหฬาร และการดำเนินการก็เป็นอีกเรื่องนึงด้วย ฉะนั้นที่ผ่านมาเราจะไม่เห็นการดำเนินการในระดับท้องถิ่นเท่าไหร่นัก”

กลับกันภาคที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษคือภาคเอกชน ที่องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยทุกองค์กรรู้จัก SDGs เป็นอย่างดี มีบางองค์กรที่ทำจริงๆ ไม่ได้สร้างภาพ ก็นับว่าน่าชื่นชม

“ไม่จำเป็นต้องทำ CSR ให้ดูใหญ่โต แค่ปรับกระบวนการทำงานที่ตัวเองทำอยู่ให้ยั่งยืนขึ้นก็ดีแล้ว”

อย่างเช่น เทสโก้ โลตัส ที่เลือกทำ ‘เป้าหมายที่ 12 : แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน’ ด้วยการลดขยะจากอาหารและขยะการเกษตร โดยทำงานกับเกษตรกร ไปจนถึงการร่วมมือกับ NGO ในการนำอาหารเหลือที่ได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตไปให้กับคนยากไร้ต่อไป”

“สิ่งที่ทำให้เอกชนแตกต่างจากภาครัฐส่วนสำคัญน่าจะเป็นความยืดหยุ่นในการทำ คือภาคเอกชนการตัดสินใจในองค์กรมันคล่องตัว ถ้าผู้นำเอาด้วยเนี่ยมันเป็นไปไกลมาก มันจะทำอะไรก็ได้”

โดยสรุป “ภาคเอกชนนั้นมีทั้ง ‘แรงจูงใจ’ (incentive) และ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการขับเคลื่อน
ในขณะที่ของภาครัฐ แรงจูงใจ ในเมืองไทยยังค่อนข้างสับสน ถ้าไปดูแผนที่ภาครัฐทำงานเพื่อตอบโจทย์ มันเยอะมาก เทียบกับภาคเอกชนที่ต้องตอบแค่ 2 อย่าง คือ 1. maximize profit – ทำกำไรให้มากที่สุด 2. ทำอะไรที่ ‘ดูดี’ ต่อสังคมนิดนึง ถ้าไกลกว่านั้นก็คือทำดีต่อสังคม

แต่ของภาครัฐนอกจาก SDGs ยังมี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนปฏิรูปประเทศ 11 ฉบับ, แผนความมั่นคง และอะไรอีกมากมาย…”

ฝั่งภาคประชาสังคม ก็มีความตื่นตัวอยู่บ้าง มี NGO ชุมชน หลายกลุ่มที่นำ SDGs มาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เช่น กลุ่มผู้หญิง Gender equality, กลุ่มกระบี่ Go Green จากภาคใต้ที่ต่อต้านเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน และกลุ่มที่ทำเรื่อง Climate change ซึ่ง SDGs มีส่วนช่วยได้ในการทำงาน และการใช้ SDGs เป็นเครื่องมือในการต่อรอง”

เมื่อเรื่ององค์กรทำอยู่ เป็นเป้าหมายของโลกและประเทศด้วย ก็ทำให้คำพูดของคนตัวเล็กๆ มีน้ำหนักมากขึ้น 🙂

อย่างไรก็ดี อีกอุปสรรคก้อนใหญ่ของประเทศไทย คือ ปัญหาด้านความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภายในรัฐกันเอง และระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ซึ่งตรงกับ ‘เป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’

ถ้าไม่ร่วมมือ ก็ไม่สำเร็จ
จะบรรลุเป้าหมายนี้ ต่างคนต่างทำ ‘ไม่ได้’

“การจะจัดการประเด็นเหล่านั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานด้วย จะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ เป็นไซโล ภายในหน่วยงานนึงทำด้วยตัวเองทั้งหมดไม่ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นไม่ได้ หรือภาครัฐจะทำเองโดยไม่ร่วมกับเอกชนหรือประชาสังคมไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานให้บูรณาการมากขึ้น ต้องเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำงานส่งผลอย่างไรต่องานคนอื่นด้วย ซึ่งสิ่งนี้ยังขาดมากในเมืองไทย”

อ.ชล ยกตัวอย่างหลายๆ กรณีที่จำเป็นต้องเกิดการทำงานบูรณาการร่วมกัน

เมือง ที่จะพัฒนาเรื่อง ศิลปะวัฒนธรรม แต่ กทม. ไม่ทำงานร่วมกับศิลปากร
กรมทางหลวง ทำถนนริมทาง ทำให้ต้องไปตัดต้นไม้ใหญ่ริมทางออก
กระทรวงเกษตร ต้องการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จึงส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมี แต่กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำเสีย ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

“มันจะมีบางเป้าหมายที่ บางกิจกรรมขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งตรงนี้มีเยอะมาก และยังไม่มีใครที่เข้ามาดูชัดว่ามันขัดแย้งกันยังไง ขัดกันมากขนาดไหน และแค่ไหนถึงจะรับได้”

เหมือนกับแก้วน้ำที่มีรูรั่ว เติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เพราะอีกฟากหนึ่งของตัวเองนั้นขัดแย้งกันเอง..

จะเห็นได้ว่า “การบูรณาการ ไม่ใช่แค่การทำงานร่วมกัน แต่ต้องเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันกระทบคนอื่นกระทบมิติอื่นยังไงทั้งทางด้านบวกและทางด้านลบ”

หลายๆ เหตุการณ์ก็โชคดีที่ได้ออกสู่สาธารณะก่อน ทำให้เกิดการวิพากษ์ วิจารณ์กันก่อนที่จะ นโยบายหรือโครงการนั้นๆ จะสร้างผลกระทบของจริง ซึ่งอ.ชลตั้งข้อสังเกตว่า

“การที่โลกโซเชียลมีคนหลากหลายสาขามาช่วยกันมองหลายๆ มุม ทำให้เห็นผลกระทบนั้นๆ ต่างจากหน่วยงานที่มักรับคนเฉพาะคนในสาขานั้นๆ เช่น กรมทางหลวงก็รับแต่วิศวกร ก็จะเห็นแต่ด้านนั้น เรื่องความหลากหลายของบุคลลากรนี้มันหยั่งรากไปลึกไปถึงวิธีการทำงานของภาครัฐ”

ถ้าหากว่าหน่วยงานภาครัฐไทยริเริ่มรับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเข้ามาทำงานร่วมกันก็น่าดีขึ้นไม่น้อย

ในมุมของผู้เขียน นี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุดของ SDGs เลยทีเดียว มีข้อความสำคัญที่อยากจะจดจำไว้ให้ขึ้นใจ และจะเก็บไว้ใช้ในการทำงานต่อไป นั่นคือ ‘การกระทำอย่างหนึ่ง ส่งผลกระทบกับอีกหลายอย่าง และ การจะบรรลุเป้าหมาย SDGs นั้นต่างคนต่างทำไม่ได้’ ดังนั้น การคิดให้รอบด้าน และ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ และอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย

หลังจากที่ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญกันแล้ว เราไปดูสถานการณ์ในบ้านเรากันเถอะ!

จะทำได้มั้ย ทำทันรึป่าว?

ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ทัน 2030 แน่!

ในระดับโลก มีรายงาน Global World Development Report ปี 2019 บอกว่า ถ้าเราทำแบบนี้ต่อไป เราบรรลุเป้าหมายไม่ทันปี 2030 แน่ และนอกจากจะไม่ทันแล้ว ปัจจุบันยังมีบางประเด็นที่การพัฒนาสวนทางกับทางที่ควรจะเป็นอยู่ 4 ประเด็น คือ
1. ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น
2. สภาพภูมิอากาศ ที่อุณหภูมิยังพุ่งสูงมากทีเดียว
3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตหลายชนิดกำลังสูญพันธุ์ และมีการรายงานหลายครั้งว่า เรากำลังอยู่ใน การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งที่ 6 The Sixth Mass Extinction
4. การเพิ่มขึ้นของปริมาณของเสีย

ในระดับประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มไปทางเดียวกับโลก

ข่าวดี คือ ไทยเราอยู่อันดับที่ 40 ของโลก จาก 162 ประเทศ (*จากข้อมูลที่ปรากฏ)

แต่! ข่าวร้าย คือ เป้าหมายส่วนใหญ่ของเรายังมีความท้าทายที่สำคัญถึง 11 เป้าหมาย และ มีถึง 4 เป้าหมายที่อยู่ในขั้นวิกฤต นอกจากเรื่องของ ความเหลื่อมล้ำ และ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นไปในทางเดียวกับโลก ฝั่งทะเลไทยทั้งเรื่องมลภาวะในทะเล และการจับสัตว์ทะเลอย่างเกินพอดี นั้นน่าเป็นห่วงมากๆ และถึงแม้ว่าสาธารณสุขไทยเราจะทำได้ดี แต่ในเรื่องของ อัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนน แม่วัยรุ่น และ วัณโรค กลับค่อนข้างวิกฤตเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

อีกปัญหาที่กำลังมาแรง ก็คือปริมาณขยะที่ทวีคูณขึ้นจากช่วงโควิด บวกกับการที่ไทยเรายังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ(มานานแล้ว) ทำให้ยังแยกไม่ขาดจากการทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงได้

ถือว่าเป็นความท้าทายมากที่รอเราลงมือแก้ไขเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องตื่นตัว เริ่มต้นลงมือ และ ลดละทิฐิ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป

อ้างอิงจาก SDG Index 2019 ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมของแต่ละประเทศเพื่อเปรียบเทียบกับระดับโลก สามารถอ่านสรุปฉบับเต็มภาษาไทยได้ที่ https://thaipublica.org/2020/02/sdgindex2019-4year/
หรือไปดู infographic ที่บอกว่าแต่ละประเทศได้คะแนนเท่าไหร่กัน https://dashboards.sdgindex.org/#/

“Every small action matters because when 7 billions people do that thing, it changes the World”


ทุกๆ การกระทำเล็กๆ นั้นมีความหมาย เพราะเมื่อคน 7 พันล้านคนทำสิ่งนั้น มันจะเปลี่ยนโลก
– อัคฮิม สไตน์เนอร์ (Achim Steiner) ผู้บริหารสูงสุดโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

แล้วเราคนธรรมดา จะทำอะไรได้บ้าง??

อันดับแรก อาจเป็นการทำความรู้จักกับประเด็นความยั่งยืนให้มากขึ้น ว่าสิ่งนี้มีขอบเขตมากกว่า แค่คำว่า สิ่งแวดล้อม ไปอย่างไรบ้าง

อันดับที่สอง ลองสำรวจชีวิตตัวเองว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ยังไงบ้าง เริ่มจากที่ชีวิต การทำงานของตัวเอง หรือสิ่งที่สนใจก่อนก็ได้ เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน การลดขยะอาหาร การรีไซเคิล สิ่งเหล่านี้เราทำได้ด้วยตัวเอง ความเท่าเทียมทางเพศ เราปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานของเราอย่างเหมาะสมหรือยัง

อันดับที่สาม มีงานจิตอาสามากมายที่ล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความยั่งยืน อาจจะเริ่มจากสิ่งที่สนใจและใกล้ตัวก่อนก็ได้

นอกจากนี้ในอีกแง่ SDGs ยังสร้างโอกาสมากมายให้กับคนที่สนใจ สำหรับนักศึกษาก็มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลก หรือถ้าคุณเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ก็มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า คนอยากลงทุนกับธุรกิจที่ยั่งยืนมากกว่า คนรุ่นใหม่ก็อยากทำงานด้วยมากกว่า เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นคนตัวเล็ก หรือ องค์กรเล็กๆ ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน ก็อย่าพึ่งถอดใจไป มีคนพร้อมสนับสนุนคุณอยู่แล้ว 🙂 !

Contributors

contributor's photo

อรอารยา วรวราชัย

Writer

บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ที่ โก๊ะ เก๊ะ แก๊ะ ที่สุดในท่าพระจันทร์ ชอบของอร่อย ตกหลุมรักได้ง่าย และกำลังพยายามหาจุดบาลานซ์ระหว่าง ความมั่งมี กับ ความยั่งยืน // กรุงเทพตอนหลับใหลมีสามอย่าง เสาไฟ อากาศเย็น และคนไร้บ้าน และใช่ ชีวิตของเราต่างคู่ขนานไปกับพวกเขาตลอดมา

Next read