close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Trawell Makeover


Trawell
Contact search

Trawell Project : Trawell Makeover

โปรเจคออกแบบเมนูและการสื่อสารภายในร้านอาหารท้องถิ่นในย่านประตูผี-เสาชิงช้าจำนวน 10 ร้าน ให้สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และตอบโจทย์ในการสื่อสารกับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้จริงเพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ที่ถึงแม้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก แต่กลับกระจุกตัวอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวกระแสหลักที่มีชื่อเสียง รายได้ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้กระจายลงสู่ชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นในเมืองอย่างแท้จริง

โดยใช้งานออกแบบและภาษาช่วยทำให้ร้านค้าท้องถิ่นสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการสร้างข้อแลกเปลี่ยนในการเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แลกกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการจัดการภายในร้านให้ตอบโจทย์การช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การแยกขยะ การทำโปรโมชั่นสำหรับคนที่เอาภาชนะติดตัวมาเอง เลิกใช้หลอด ฯลฯ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในควบคู่กันไปในระยะยาว

ขั้นตอนการทำงานเริ่มต้นจากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเป็นไปได้และปัญหาที่เกิดขึ้นกับร้านอาหารท้องถิ่นในเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อนำมาออกแบบกระบวนการในการทำงานที่เหมาะสมและตอบโจทย์ ก่อนจะดำเนินการลงพื้นที่ตามหาผู้ประกอบการและร้านอาหารที่มีความสนใจและความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของเมืองทั้ง 10 ร้าน แล้วจึงเริ่มทำกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบแนวทางและรูปแบบในการสื่อสาร รวมถึงสื่อต่างๆภายในขึ้นใหม่ และนำไปติดตั้งในร้านค้า เพื่อทดสอบการใช้งานจริงและติดตามผลการดำเนินงานต่อไป

Trawell Makeover เปลี่ยนเมนูร้านอาหารข้างบ้านให้สั่งได้สั่งดี

เมื่อมีบ้านอยู่กลางเมืองเก่าและต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหารโลคอลมากมายอยู่ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ Trawell พบว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เมืองเริ่มเปลี่ยนจากพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำงาน กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของชาวต่างชาติจากทั่วโลก ก็คือการที่นักท่องเที่ยวไปกระจุกอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ ทำให้การเข้ามาของนักท่องเที่ยวไม่ได้ทำให้คนในพื้นที่หรือร้านค้าโลคอลมีรายได้มากขึ้น แถมยังกลายเป็นอยู่ยากขึ้นเพราะมีผู้ประกอบการหน้าใหม่จากข้างนอกย้ายตามนักท่องเที่ยวเข้ามาเต็มไปหมด

และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกจะมองผ่านร้านเล็กๆ น้อยๆ ในซอกซอยไปกินเที่ยวในร้านแบรนด์ใหญ่ๆ แทน ก็คือ ‘การสื่อสาร’ ทั้งในแง่ของความสวยงามมีเอกลักษณ์ การเล่าเรื่องราวของตัวเองได้เป็นดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘ภาษา’ ซึ่งเป็นกำแพงอันใหญ่ยักษ์ที่ทำให้ชาวต่างชาติที่อยากกินอาหารแบบที่คนไทยกินกันจริงๆ ต้องยอมถอดใจเลี้ยวเข้าร้านเครือใหญ่หรือร้านที่ตั้งใจเน้นขายนักท่องเที่ยวตามแหล่งฮิตๆ อย่างถนนข้าวสารหรือวัดพระแก้ว

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้พวกเราเกิดนึกสนุกอยากลองทำโปรเจค Menu Makeover หรือการออกแบบเมนูร้านอาหารโลคอลขึ้นใหม่ ให้สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละร้าน และสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติได้จริงๆ เพื่อทดลองดูว่างานออกแบบและภาษาจะทำให้ร้านค้าโลคอลเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นบ้างหรือไม่ โดยคิดเงื่อนไขเล็กๆ แลกเปลี่ยนกับค่าใช้จ่ายในการออกแบบ เป็นการมาร่วมช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมกับเรา ด้วยการ ‘แยกขยะ’ ‘ทำโปรโมชั่นสำหรับคนที่เอาภารชนะติดตัวมาเอง’ หรือ ‘เลิกใช้หลอด’ จนได้ออกมาเป็น 10 ร้านแรกในย่านประตูผี-เสาชิงช้า รอบบ้านของพวกเรา ที่สำเร็จและได้ติดตั้งในร้านค้าต่างๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ระหว่างทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยปัญหาและเรื่องไม่คาดฝันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการชวนฝรั่งไปช่วยแปลแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง, การพยายามอธิบายให้คุณป้าคุณลุงมองเห็นถึงความสำคัญของงานออกแบบที่ยากแบบสุดๆ, การเร่งเก็บข้อมูลและผลิตชิ้นงาน 10 ร้านในเวลาสั้นๆ แค่เดือนเดียว, การชวนให้พี่ๆ ร้านค้ายอมเพิ่มต้นทุนอีกนิดเพื่อเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษและมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมายที่เราอยากบันทึกเอาไว้เตือนใจ เพื่อให้การทำงานในครั้งต่อๆ ไป (ซึ่งเราอยากจะให้เกิดขึ้นอีกมากๆ) ราบรื่นและตอบโจทย์พี่ๆ พ่อค้าแม่ค้าได้มากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้นหากทุกคนมีไอเดียดีๆ หรือนึกวิธีแก้ปัญหาที่เราคิดไม่ตกเหล่านี้ออก สามารถติชมและแนะนำพวกเราเข้ามาได้เลย พวกเราสัญญาว่าจะนำไปปรับปรุงและทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปแน่นอน 🙂

Say No to Free Designs

เพราะงานดีไซน์ไม่ควรเป็นของฟรี ถึงแม้ว่าเราจะตั้งต้นมาด้วยการอยากออกแบบและแปลเมนูใหม่ให้กับร้านอาหารโลคอล แต่เราก็ตรงกันว่าเราควรต้องมีบางอย่างเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ร้านค้าได้มองเห็นคุณค่าของงานออกแบบและรู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุนที่มองไม่เห็นอยู่เสมอๆ แต่การจะเก็บเงินค่ารับจ้างออกแบบแพงๆ ตามเรททั่วไป ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลานี้ที่ร้านอาหารหลายๆ ร้านเจอกับปัญหาเศรษฐกิจรุมกระหน่ำจนแทบไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่นใดนอกจากการพยายามเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน

ดังนั้นเราจึงพยายามนึกกันว่าจะมีเงื่อนไขอะไรที่นอกจากจะทำให้งานออกแบบยังคงมีมูลค่าอย่างที่ควรเป็นแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับสังคมและเศรษฐกิจได้อีกบ้าง โดยไอเดียที่พวกเรานึกกันก็มีตั้งแต่

– แลกงานออกแบบกับอาหารที่แต่ละร้านขาย เพื่อให้เราได้ทำไปบริจาคให้กับคนไร้บ้านหรือคนที่ขาดแคลนอาหาร
– แลกงานออกแบบกับสิทธิ์ในการกินอาหารในร้าน เพื่อให้เรานำไปประชาสัมพันธ์และแจกให้ลูกค้าหน้าใหม่ๆ ได้มาลองทานอาหารที่ร้าน
– แลกงานออกแบบกับการให้ส่วนลด โปรโมชั่น หรือของแถมเฉพาะสำหรับลูกเพจ Trawell เมื่อมาทานครบทานราคาที่กำหนด

และหลังจากคิดกันไปคิดกันมาหลายตลบ เราก็มาตกลงใจที่ ‘การช่วยสิ่งแวดล้อม’ ด้วยการลดและแยกขยะ รวมถึงทำโปรโมชั่นเพื่อคนที่นำภาชนะมาเอง โดยแบ่งเงื่อนไขต่างๆ เป็นส่วนลดสำหรับค่าออกแบบคือ

ลด 25% เมื่อแยกขยะอย่างถูกวิธี
ลด 25% เมื่อเลิกใช้หลอด (หรือเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ)
ลด 25% เมื่อเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษ
ลด 25% เมื่อทำโปรโมชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดยพี่ๆ ร้านค้าสามารถเลือกทำข้อไหนก็ได้ตามความสมัครใจ โดยถ้าหากทำครบทุกข้อก็จะได้ส่วนลดครบ 100% หรือก็คือได้ทำฟรีกันไปเลย ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ก็นำมาซึ่งทั้งความยากและความง่ายที่จะเกิดขึ้นกับการทำงานของพวกเราในขั้นต่อๆไป

1 MONTH MIRACLE

เพราะเราตั้งใจว่าอยากทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 เดือน การเตรียมงานทุกอย่างจึงต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อลองวางแผนงาน รวมถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างละเอียดแล้ว เราก็พบว่ากว่าจะได้ออกมาเป็นเมนูแบบที่วางแผนไว้นั้นมีอะไรที่ต้องทำระหว่างทางเยอะมาก! ไม่ว่าจะเป็น

1.การหาข้อมูลและประสานงานกับเครือข่ายที่จะช่วยเหลือเราในเรื่องของการจัดการขยะ เช่น องกรค์ต่างๆ ที่ทำงานด้านขยะโดยเฉพาะ หรือโรงงานที่ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถให้ราคาพิเศษกว่าการซื้อตามห้างสรรพสินค้า ที่จะช่วยลดต้นทุนในการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้กับพี่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

2.การชักชวนและตามหา 10 ร้านโลคอลที่พร้อมใจอยากเปลี่ยนเมนูใหม่ และยินดียอมทำตามเงื่อนไขยุ่งยากที่เราตั้งขึ้น

3..การลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ปัญหา ประวัติร้าน ข้อมูลพื้นฐาน ความต้องการเฉพาะด้าน เช่นรูปแบบของเล่มเมนูและภาษา รายละเอียดของเมนูต่างๆ ไปจนถึง Concept, Keyword และ Mood&Tone ของแต่ละร้าน ที่จะถูกนำมาสื่อสารผ่านงานออกแบบ

4.การถ่ายภาพอาหารแต่ละจานขึ้นใหม่ให้สวยงามเพื่อใช้ประกอบในเมนู

5.การแปลภาษาและเรียบเรียงเนื้อหาในเล่มเมนู

6.การออกแบบเมนูขึ้นใหม่ตามเอกลักษณ์ของแต่ละร้าน

7.การนำงานออกแบบกลับมาให้ร้านตรวจเช็ค เพื่อปรับแก้ไขครั้งสุดท้าย

8.การส่งผลิตและติดตั้ง

9.การติดตามผลของงานออกแบบและการทำเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม

Hard to heart

หลังจากที่ลงพื้นที่จริงๆ เราพบว่าในทุกๆ ขั้นตอนมีรายละเอียดมากมายซุกซ่อนอยู่ และนอกจากระยะเวลาที่กระชั้นชิดแบบสุดๆ แล้ว สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานครั้งนี้ก็คือการสื่อสารหาวิธีกับผู้ประกอบการให้เข้าใจในจุดมุ่งหมายของสิ่งที่เรากำลังจะทำ โดยเฉพาะการทำให้พี่ๆ พ่อค้าแม่ค้ามองเห็นความสำคัญของงานออกแบบและการสื่อสารกับชาวต่างชาติเพื่อขยายฐานลูกค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ใหม่มาก สำหรับร้านโลคอลซึ่งเน้นไปที่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีและการปรุงอาหารให้มีรสชาติที่ดีเป็นหลัก

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงการจัดการภายในร้านให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นก็ยังเป็นสิ่งที่ยากใหญ่ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาที่ไกลตัวกว่าเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องมากมาย สองเหตุผลที่ทำให้พี่ๆ ลังเลใจที่ทำเงื่อนไขเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเพราะ ‘ค่าใช้จ่าย’ ภายในร้านที่จำเป็นต้องสูงขึ้นตามราคาของบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์เดิมหลายเท่า และ ‘ความเคยชินของลูกค้า’ อย่างการใช้หลอดพลาสติก ที่ทำให้คนเป็นผู้ประกอบการไม่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองด้วยการทำลายความคุ้นชินของลูกค้า

แน่นอนว่าการตามหาร้านค้าเข้ามาร่วมโครงการของเราจึงยากกว่าที่คิดมากมาย แต่ภายในเมืองใหญ่ เราก็ยังได้พบกับทั้ง 10 ร้านโลคอลที่เปิดใจร่วมเปลี่ยนเมนูไปกับเรา ซึ่งเราขอสารภาพรักตรงนี้เลยว่า การมีอยู่ของร้านอาหารเหล่านี้ ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจและความตั้งใจอยากพัฒนาตัวเอง เป็นสิ่งที่ชุบชูจิตใจของพวกเรามากมาย เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความตั้งใจและการลงมือทำของพวกเราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มจากคนในพื้นที่ที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อตัวเอง ซึ่งเราเชื่อว่าหากคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในระดับรายย่อยมั่นคงและอยู่ได้มากขึ้นอีก นั่นหมายความว่าเมืองเองก็กำลังเข้มแข็งขึ้นทีละนิดเช่นกัน

การเดินทางของพวกเราและพี่ๆ ร้านโลคอลในเมืองเก่าเพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรให้กับเหล่าคนตัวเล็กผู้เป็นเจ้าของเมือง และยังคงมีข้อบกพร่องมากมาย ดังนั้นหากทุกคนมีไอเดียดีๆ หรือนึกวิธีแก้ปัญหาที่เราคิดไม่ตกเหล่านี้ออก สามารถติชมและแนะนำพวกเราเข้ามาได้เลย พวกเราสัญญาว่าจะนำไปปรับปรุงและทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปแน่นอน 🙂

ป.ล. อย่าลืมมาอุดหนุนร้านอาหารโลคอลไปด้วยกันนะ!

 

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read