close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Lines & Rhythms in Thai Architecture

Trawell
Contact search
Join Well 954

Lines & Rhythms in Thai Architecture

1 September 2020 เรื่อง แทนไท นามเสน ภาพ แทนไท นามเสน

เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา สมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาคมนักศึกษาเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสงขลาพาวิเลียน (Songkha Pavilion) ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวเนื่องในงาน “Lines & Rhythms จังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย” ซึ่งจะจัดคู่ขนานไปกับเทศกาลแสดงศิลปะนานาชาติเวนิชประจำ ค.ศ.2020 (Venice Architecture International 2020) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

โดยในงานได้รับเกียรติจาก อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี) ประจำปี พ.ศ. 2546 และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาพูดถึงผลงานผลงานโดดเด่น 4 ชิ้นของท่าน ซึ่งจะถูกไปจัดแสดงในเทศกาลแสดงศิลปะนานาชาติเวนิช 2020 ที่กำลังจะถึงนี้ ในฐานะตัวแทนของงานสถาปัตยกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก

ในส่วนแรกของงาน เป็นการเล่าถึงประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของเทศกาลแสดงศิลปะนานาชาติเวนิช ประเทศอิตาลี ที่เป็นพื้นที่สำคัญในการนำผลงานของอาจารย์วนิดาไปจัดแสดงในช่วงเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง

ซึ่งนำการเล่าเรื่องโดย อาจารย์ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ร่วมก่อตั้งสงขลาพาวิเลียน (Songkha Pavilion) โดยอาจารย์เล่าเรื่องย้อนช่วงเวลาการกำเนิดเทศกาลศิลปะเมืองเวนิชไปไกลถึงเกือบ 100 ปีในยุคเริ่มแรกของการกำเนิดเทศกาลศิลปะ ณ เมืองแห่งนี้

ในส่วนถัดมา อาจารย์วนิดา ได้พูดถึงเรื่องราวของผลงานสถาปัตยกรรมทั้ง 4 ชิ้นของท่านที่จะนำไปจัดแสดงที่เทศกาลแสดงศิลปะนานาชาติเวนิชประจำปีนี้ โดยเริ่มต้นผลงานชิ้นแรก พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสาลวโนทยาน สถานที่ดังขันพันธ์ปรินิพานของพระพุทธเจ้า เมืองกุสินารา สาธารณรัฐอินเดีย และเป็นผลงานสำคัญที่อาจารย์วนิดาได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นพระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ 9 ยอด ซึ่งสื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงพระวินัจฉัยแบบและให้พระราชทานคำแนะนำตลอดระยะเวลาการสร้างวัดแห่งนี้ในทุกขั้นตอน ทั้งภายหลังงานก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วยังพระพระราชทานเงินทุกเพื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมหาธาตุในอนาคตอีกด้วย นับเป็นการเผยแพร่ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยออกยังแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนาได้อย่างภาคภูมิ

ผลงานชิ้นที่ 2 คือพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน วัดจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่เมืองโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี โดยเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความงามทางสถาปัตยกรรมไทยร่วมกับหน้าที่การใช้งานอย่างลงตัว

โดยอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนล่างที่เป็นฐานของพระมหาเจดีย์นั้นได้ดัดแปลงเป็นพื้นที่สำหรับจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชน ทีแสดงถึงพัฒนาการของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ส่วนกลางซึ่งเป็นเรือนธาตุประดิษฐานหลวงพ่อนาค พระพุทธรูปนาคปรกที่นำมาจากเมืองลพบุรี เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชุมชน และส่วนยอดซึ่งเป็นเจดีย์ไว้สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

ผลงานชิ้นที่ 3 คืออาคารประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย เป็นอาคารขนาดเล็กผังพื้นรูปแปดเหลี่ยมด้านไม่เท่า มีหลังคาทรงโดม ลักษณะหลังคาทำเป็นแบบกลีบมะเฟืองและมีหลังคาปีกนกโดยรอบ รองรับหลังคาทรงโดมด้วยเสาเหลี่ยม 8 ต้น

ทั้งนั้นเนื่องคติความเชื่อทางสถาปัตยกรรมไทย จะไม่นิยมสร้างเสา 4 ต้นรองรับหลังคาของอาคาร โครงสร้างอาคารเป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้หินอ่อนสีขาวประดับภายนอกและภายในเพื่อความสง่างามสมพระเกียรติ ซึ่งงานส่วนอาคารทั้งหมดเป็นงานทำสำเร็จจากประเทศไทย ขณะที่เสาทั้ง 8 ต้นซึ่งเป็นเสาหินทรายสีน้ำตาลเป็นงานที่ประกอบสร้างจากเมืองพาราณสี สาธารณรัฐอินเดีย ภายในโมกลีบมะเฟืองเเป็นเพดานโค้งประดับภาพเขียนสีฉัตร 9 ชั้น ส่วนยอดฉัตรเขียนภาพประปรมาภิไธยย่อ ภปร เพื่อแสดงฐานานุศักดิ์ขององค์พระมหากษัตริย์ ส่วนบริเวณคอสองประดับภาพสัญลักษณ์พระราชลัญจกร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ครุฑ และคุณพระเศวต

ผลงานชื้นสุดท้าย พระมหาธาตุเจดีย์มงสิทธาจารย์ (หลวงพ่อรวย) วัดตะโก อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาออกแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังในกลม ส่วนยอดมีบัลลังก์แปดเหลี่ยมรองรับส่วนปล้องไฉนและปลียอด พระเจดีย์ดังกล่างตั้งอยู่อาคารมณฑไปผังสี่เหลี่ยม แต่ละดัานประดิษฐานซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ปาง มีพระเจดีย์บริวารวางอยู่บนหลังคาเหนือซุ้ม รวมเป็นทั้งหมดเป็นพระเจดีย์เก้ายอดที่มีความสวยงาม และทั้งหมดวางอยู่บนฐานไพทีซึ่งทำเป็นอาคารสำหรับสำหรับใช้งานกิจกรรมต่างๆ

ที่มาที่ไปของชื่องาน “Line & Rhythms in Thai Architecture จังหวะและลีลาในงาน”

อ.วนิดา : “เป็นชื่อที่มาจากเวลาเราอธิบายถึงความงามทางสถาปัตยกรรมไทย เรื่องของเส้นสายและจังหวะเป็นองค์ประกอบความงามที่สำคัญเสมอ อย่างเวลาเราดูงานสถาปัตยกรรมไทยต่างๆ เราจะพบว่างานแต่ละชิ้นจะไม่มีเส้นตรงที่ชัดเจน แต่จะประกอบไปด้วยเส้นโค้งอยู่มากมาย เพื่อสถาปัตยกรรมมีสรีระที่อ่อนช้อยงดงาม และเส้นสายเหล่านี้จะถูกกำกับรูปแบบผ่านจังหวะของเส้นสายโดยเฉพาะต่างองค์ประกอบต่างๆ ของอาคาร เพื่อให้เส้นสายต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่งดงาม ทั้งสองคำจึงเป็นที่มาของชื่องานในครั้งนี้”

ความรู้สึกที่ผลงานของอาจารย์ได้ร่วมจัดแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะนานาชาติเวนิชประจำปีนี้

อ.วนิดา : “รู้สึกดีใจที่งานสถาปัตยกรรมไทยจะได้ไปจัดแสดงยังต่างประเทศ ให้ทั่วโลกได้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมไทย ที่มีความงามอันเป็นเอกลักษณ์และดึงดูดผู้คนมากมายทั่วโลกมาชื่นชมความงามที่บ้านเรา”

ผลงานที่อาจารย์ภาคภูมิใจตลอดชีวิตการทำงานด้านสถาปัตยกรรม

อ.วนิดา : “จริงๆ อาจารย์มีความชอบและประทับใจในงานทุกชื้นที่ได้ออกแบบ แต่ละชื้นก็มีเรื่องที่เราประทับใจแตกต่างกัน อย่างตอนนี้ถ้าให้พูดถึงก็คงจะเป็น พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งอาจารย์ภูมิใจในฐานะที่เราได้ถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกวันศุกร์เราต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าพระองค์ท่านโดยตลอด พระองค์ท่านก็จะถามถึงความคืบหน้า ทรงพระวินิจฉัยแบบอย่างใกล้ชิดไม่เคยขาด ตลอดระยะเวลาโครงการก่อสร้าง พระองค์จะคอยทรงถามอยู่ตลอดว่า “เจดีย์ของฉันเป็นอย่างไรบ้าง”

งานสถาปัตยกรรมไทยในกระแสงานด้านศิลปะไทยในยุคปัจจบัน

อ.วนิดา : “อาจารย์มองว่า อย่างงานของอาจารย์แม้ว่าจะมีเรื่องของความงดงามตามอย่างสถาปัตยกรรมไทยก็จริง แต่ก็คำนึงเรื่องหน้าที่การใช้งานของงานสถาปัตยกรรมเป็นสำคัญเช่นกัน อย่างเช่นพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ สมัยนั้น อ.สุรพล นาถะพินธุ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พานักศึกษาของคณะมาทำงานโบราณคดีที่นี่ เพราะเป็นเมืองโบราณสมัยทวารดี ตอนนั้นมีความพยายามจะจัดพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้นเพื่อเก็บโบราณวัตถุเพื่อประโยชน์การศึกษา งานออกแบบเจดีย์ของที่นี่จึงไม่เพียงแสดงถึงอัตลักษณ์ความงามทางศิลปะไทยในสมัยทวารดีแล้ว แต่ยังต้องมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบที่เมืองโบราณจันเสนอีกด้วย”

งาน “Lines & Rhythms จังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย” ซึ่งจะจัดคู่ขนานไปกับเทศกาลแสดงศิลปะนานาชาติเวนิชประจำ ค.ศ.2020 (Venice Architecture International 2020) จัดแสดงงานตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม – 3 กรกฏาคม พ.ศ.2563 ณ บ้านเลข 3716/A ถนน Calle Della Pieta Campo Bandiera e moro เขตคัสเตลโล นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี โดยกำหนดพิธีเปิดนิทรรศการ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

Contributors

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Writer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read